สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวเคราะห์น้อยจิ๋วเฉียดโลก

ดาวเคราะห์น้อยจิ๋วเฉียดโลก

25 ต.ค. 2546
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2546 ได้มีดาวเคราะห์น้อยขนาดจิ๋วดวงหนึ่งเฉียดผ่านโลกไปในระยะเผาขนที่ระยะห่างออกไปเพียง 78,000 กิโลเมตร หรือเพียงหนึ่งในห้าของรัศมีวงโคจรดวงจันทร์เท่านั้น แต่กว่าที่ชาวโลกจะรู้ตัวเวลาก็ล่วงเลยไปแล้วหนึ่งวัน

รอเบิร์ต เอ. แคช จากโครงการค้นหาวัตถุใกล้โลกหอดูดาวโลเวลล์หรือ โลเนียส (LONEOS--Lowell Observatory Near-Earth Object Search) ค้นพบดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จากใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ชื่อพินพอยนต์ตรวจสอบภาพที่ถ่ายได้ หลังจากที่ได้ค้นพบจึงรีบส่งการวัดนี้ไปยังศูนย์ดาวเคราะห์น้อยในเคมบริดจ์ แมสซาจูเซตต์ ซึ่งตรวจสอบและกระจายข่าวไปยังนักสังเกตการณ์ทั่วโลกอีกต่อหนึ่ง 

ต่อมาเมื่อวันที่ ตุลาคม ศูนย์ดาวเคราะห์น้อยได้ประกาศการค้นพบดาวเคราะห์น้อยอย่างเป็นทางการ ให้ชื่อว่า 2003 SQ222 มีวงโคจรรีมากแต่มีความเอียงของระนาบน้อย จุดไกลสุดอยู่เลยดาวอังคารออกไปพอสมควร จุดใกล้สุดอยู่ประมาณวงโคจรดาวศุกร์ มีคาบโคจร ปี 10 เดือน จากความสว่างที่ปรากฏ เชื่อว่าดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีขนาดประมาณ 3-6 เมตร หรือประมาณรถตู้คันหนึ่งเท่านั้น 

หากดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ไม่พุ่งเฉียดโลกแต่พุ่งเข้าหาโลก จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงใด ๆ เนื่องจากจะระเบิดตั้งแต่อยู่ในชั้นบรรยากาศชั้นบน ขณะนี้ ชื่อของดาวเคราะห์น้อย 2003 SQ222 อยู่แถวบนสุดของรายชื่อดาวเคราะห์น้อยที่เข้าใกล้โลกมากที่สุดโดยไม่เข้าชั้นบรรยากาศของศูนย์ดาวเคราะห์น้อย แม้จะยังไม่เคยพบวัตถุใดที่เฉียดโลกมากกว่านี้ แต่ในอดีตเคยมีวัตถุที่ใหญ่กว่านี้และเข้าใกล้มากกว่านี้หรือบางดวงก็ถึงกับพุ่งชนมาแล้วหลายครั้ง หลุมอุกกาบาตแบริงเจอร์ในแอริโซนาที่รู้จักกันดีก็เป็นผลจากการถูกดาวเคราะห์น้อยที่หนักกว่า 2003 SQ222 ถึง 1,000 เท่าพุ่งชน เหตุการณ์ทังกัสกาที่เกิดขึ้นในปี 1908 ก็เกิดขึ้นจากการถูกดาวเคราะห์น้อยที่ใหญ่กว่านี้ถึง 30 เท่าพุ่งชน ลูกไฟยักษ์ที่ปรากฏขึ้นเหนือท้องฟ้าในอุทยานแห่งชาติแกรนด์ทีตันเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2515 ก็เกิดขึ้นจากดาวเคราะห์น้อยที่ใหญกว่า 2003 SQ222 ถึงสองเท่าเข้าถากบรรยากาศโลกแล้วหลุดเลยออกไปสู่ห้วงอวกาศอีกครั้ง 
โดมที่เป็นที่ตั้งของกล้องโลเนียส

โดมที่เป็นที่ตั้งของกล้องโลเนียส

ที่มา: