สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สิบข่าวเด่นดาราศาสตร์ปี 2559

สิบข่าวเด่นดาราศาสตร์ปี 2559

31 ธ.ค. 2559
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ปี 2559 กำลังจะผ่านไป แม้เป็นปีแห่งความทุกข์โศกของคนไทย แต่ก็เป็นความจริงที่ต้องยอมรับว่า สรรพสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลงตราบใดที่เวลายังคงเดินไปข้างหน้า โลกยังคงไม่หยุดหมุน และจักรวาลยังไม่หยุดขยายตัว 
สูงขึ้นไปบนฟากฟ้า ปีที่ผ่านมาก็เป็นอีกปีหนึ่งที่มีเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับดาราศาสตร์เกิดขึ้นมากมาย ที่พอจะรวบรวมที่เด่นที่สุดมาให้ทบทวนกันดังนี้

ดาวเคราะห์หมายเลข 9

นับจากที่ดาวพลูโตถูกปรับสถานะจากดาวเคราะห์เป็นดาวเคราะห์แคระ ระบบสุริยะของเราก็เหลือดาวเคราะห์เพียงแปดดวง แต่ปีนี้อาจได้มีเหตุที่ทำให้ตัวเลขกลับมาเป็นเก้าดวงอีกครั้ง เมื่อมีการค้นพบ "ดาวเคราะห์หมายเลข 9" ที่น่าสนใจก็คือ การค้นพบนี้ไม่ใช่การค้นพบจากการสำรวจ หากเป็นการค้นพบจากแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่สร้างขึ้น แม้จะยังไม่พบดาวเคราะห์ดวงที่เก้าจริง แต่มีหลักฐานแวดล้อมมากมายที่สนับสนุนว่าดาวเคราะห์หมายเลข นี้น่าจะมีอยู่จริง ตามทฤษฎี ดาวเคราะห์น้อยหมายเลข มีมวลมากกว่าโลกถึง 10 เท่า อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากกว่าดาวเนปจูนถึง 20 เท่า


พบแหล่งน้ำใต้ดินบนดาวอังคาร

ยานมาร์สรีคอนเนสเซนส์ออร์บิเตอร์ได้พบว่า ที่ซีกเหนือของดาวอังคาร ระดับละติจูดปานกลาง มีน้ำแข็งใต้ดินปริมาณมหาศาลอยู่ลึกลงไปใต้ผิวดิน 1-10 เมตร ปริมาณแหล่งน้ำใต้ดินนี้มีมากถึง 12,100 ลูกบาศก์กิโลเมตร ไม่ได้เขียนผิดครับ ลูกบาศก์กิโลเมตรจริง ๆ มากกว่าความจุของเขื่อนภูมิพลถึง 900 เท่า
การค้นพบแหล่งน้ำขนาดใหญ่บนดาวอังคารมีประโยชน์อย่างมากสำหรับการส่งมนุษย์ไปสำรวจดาวอังคารในอนาคต รวมถึงการตั้งรกรากบนดาวอังคาร เพราะเราสามารถขุดเอาน้ำจากใต้ดินที่นั่นได้เลย ไม่ต้องแบกน้ำจำนวนมากไปจากโลก

สเปซเอกซ์ประสบความสำเร็จในการนำจรวดขึ้นลงแนวตั้ง


การเดินทางระหว่างพื้นโลกกับอวกาศด้วยจรวดตั้งแต่ยุคอวกาศเริ่มต้นจนถึงปัจจุบันเป็นไปในลักษณะคล้ายกัน นั่นคือขาขึ้นใช้จรวดขับดัน เมื่อถึงระดับหนึ่ง ก็จะปลดจรวดขับดันออก ปล่อยให้ตกลงทะเล รอให้เรือแล่นมาเก็บกู้และลากเข้าฝั่ง แต่สเปซเอกซ์ซึ่งเป็นองค์กรอวกาศเอกชนได้ปฏิวัติการเดินทางด้วยจรวดโดยควบคุมให้จรวดที่ถูกปลดแล้วหันหัวเชิดขึ้นฟ้าก่อนจะประคองตัวเองลงมายังพื้นดินอีกครั้งในแบบตั้งขึ้นเหมือนตอนก่อนขึ้นสู่ฟ้า ด้วยวิธีการเดินทางแบบใหม่นี้ จะทำให้ต้นทุนการขนส่งทางอวกาศลดลงไปเป็นอย่างมาก และน่าจะมาแทนรูปแบบการขนส่งแบบเดิม ๆ ในอนาคตอันใกล้


โรเซตตาลงจอดบนดาวหาง


หลังจากการเดินทางอย่างยาวนานถึงสิบสองปี และสำรวจดาวหางในระยะใกล้เป็นเวลากว่าสองปี ก็ถึงเวลาที่ภารกิจโรเซตตาต้องปิดฉาก การปิดภารกิจของโรเซตตาเป็นไปอย่างตระการตายิ่ง โดยเริ่มด้วยการจุดจรวดชลอจนยานหยุดกลางวงโคจร แล้วปล่อยให้ยานตกลงสู่ดาวหางอย่างช้า ๆ พร้อมกับถ่ายภาพพื้นผิวแล้วส่งกลับมายังโลกตลอดเวลาจนกระทั่งลับแนวสายตาไป ภาพสุดท้ายจากโรเซตตาเป็นภาพพื้นผิวที่ถ่ายจากระยะเพียงไม่กี่เมตรเท่านั้น ยานโรเซตตานับเป็นยานสำรวจที่ประสบความสำเร็จที่สุดลำหนึ่งเท่าที่เคยมีการสร้างมา
 

พบดาวเคราะห์ของดาวพร็อกซิมาคนครึ่งม้า


เรื่องของดาวเคราะห์ของดาวฤกษ์ดวงอื่นหรือที่มีชื่อเรียกว่า "ดาวเคราะห์ต่างระบบ" นั้น ก็ยังคงคึกคักไม่เลิก จนถึงปัจจุบันมีการพบแล้วไม่ต่ำ 3,400 ดวง แต่ที่น่าตื่นเต้นที่สุดเห็นจะไม่พ้นการพบว่าดาวพร็อกซิมาคนครึ่งม้า (proxima centauri) ก็มีดาวเคราะห์เป็นบริวารด้วย นี่ถือว่าเป็นการค้นพบระดับโลกสะเทือน เพราะดาวพร็อกซิมาคนครึ่งม้าเป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้เรามากที่สุดหากไม่นับดวงอาทิตย์ อยู่ห่างจากเราไปเพียง 4.3 ปีแสงเท่านั้น ถือว่าเป็นระยะทางที่ใกล้พอที่การเดินทางระหว่างดาวเป็นไปได้ แม้จะยังไม่ได้ในขณะนี้ก็ตาม แต่ก็อาจเป็นไปได้ภายในศตวรรษนี้


ระบบดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุด


ขนาดระบบดาวเคราะห์ของระบบสุริยะวัดกันที่ขนาดของวงโคจรของดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างที่สุด ในกรณีระบบสุริยะของเรา ระบบดาวเคราะห์ของเราคือขนาดวงโคจรของดาวเนปจูน ซึ่งมีรัศมีวงโคจรประมาณ 4.5 พันล้านกิโลเมตร โคจรครบรอบหนึ่งใช้เวลา 165 ปี 
แต่สำหรับระบบดาวเคราะห์ของดาว แมส เจ 2126 (2MASS J2126) ซึ่งนักดาราศาสตร์เพิ่งค้นพบว่ามีดาวเคราะห์ด้วยมีขนาดใหญ่กว่าอย่างเทียบกันไม่ติด ดาวเคราะห์ของดาวดวงนี้อยู่ห่างออกไปราวหนึ่งล้านล้านกิโลเมตร กว่าจะโคจรรอบดาวแม่แต่ละรอบใช้เวลาถึงเกือบหนึ่งล้านปี!

สำรวจสภาพบรรยากาศของดาวเคราะห์ต่างระบบ


การค้นพบดาวเคราะห์ต่างระบบว่าเป็นเรื่องยากแล้ว แต่ในปีนี้ วิทยาการสำรวจอวกาศก้าวไกลไปถึงการสำรวจบรรยากาศของดาวเคราะห์ในระบบอื่นเลยทีเดียว เมื่อนักวิทยาศาสตร์สามารถใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลสำรวจสภาพบรรยากาศของดาว 55 ปูอี หรือที่มีชื่อสามัญเรียกแล้วว่า ดาวยันส์เซิน พบว่าดาวเคราะห์ต่างระบบดวงนี้ประกอบด้วยไฮโดรเจนและฮีเลียม มีอุณหภูมิพื้นผิวร้อนดั่งขุมนรกถึง 2,000 องศาเซลเซียส 


บริวารของดาวฤกษ์สามดวง


เคยเป็นที่เชื่อกันว่า ดาวเคราะห์จะเกิดขึ้นได้ในระบบที่มีดาวฤกษ์ดวงเดียวเท่านั้น ระบบที่มีดาวฤกษ์มากกว่าหนึ่งดวงอย่างเช่นดาวคู่มีสนามความโน้มถ่วงแปรปรวนไม่เสถียร ทำให้การก่อกำเนิดดาวเคราะห์เป็นไปได้ยากหรือแทบเป็นไปไม่ได้ 
แต่แล้วก็มีการพบดาวเคราะห์ของระบบดาวคู่ก็จริงๆ เมื่อหลายปีก่อน นั่นก็นับว่าแปลกมากแล้ว แต่ก็คงยังแปลกน้อยกว่าดาว เอชดี 131399 เอบี (HD 131399Ab) ที่เพิ่งพบเมื่อกลางปีนี้ เพราะดาวเคราะห์ดวงนี้เป็นบริวารของระบบดาวสามดวง ถ้าใครไปอยู่ที่นั่น ก็คงได้เห็นดวงอาทิตย์สามดวง ดวงหนึ่งสว่างจ้า ขึ้นและตกประจำวันแบบดวงอาทิตย์ อีกสองดวงจางกว่า ขึ้นและตกเกือบด้วยกันพร้อมกับโคจรรอบกันเอง นับเป็นระบบสุริยะที่แปลกประหลาดจริง 

ดาวแท็บบี วุ่นไม่เลิก

ดาวแท็บบี หรือ ดาวเคไอซี 8462852 เป็นดาวฤกษ์ดวงหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงความเข้มแสงในแบบที่คาดเดาไม่ได้ ในปีที่แล้วเคยมีผู้เสนอทฤษฎีว่า บางทีการแปรแสงนี้อาจเกิดจากโครงสร้างประดิษฐ์ขนาดมหึมาที่ห่อรอบดาวฤกษ์มาบดบังแสง ซึ่งหากเป็นจริง นี่จะเป็นหลักฐานของอารยธรรมชั้นก้าวหน้าสุด ๆ นอกโลกเป็นครั้งแรก แม้ทฤษฎีที่เหลือเชื่อนี้จะตกไปแล้ว แต่ความพิสดารของดาวยังไม่จบ การศึกษาเพิ่มเติมในปีนี้พบว่าระดับความเข้มแสงของดาวแท็บบียังมีการลดลงช้า ๆ ในระยะยาวอีกด้วย จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครอธิบายได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร


ข่าวเด่นที่นำมาบอกเล่ากันนี้ ไม่มีการเรียงอันดับเพราะไม่รู้จะเรียงอย่างไร ทุกข่าวล้วนแต่น่าสนใจไล่เลี่ยกัน แต่ถ้าจะให้จัดจริง ๆ ข่าวที่น่าสนใจอันดับหนึ่งในรอบปี ต้องยกให้ข่าวต่อไปนี้อย่างไม่ต้องสงสัย 

พบคลื่นความโน้มถ่วงเป็นครั้งแรก

คลื่นความโน้มถ่วง เป็นคลื่นลึกลับที่เกิดขึ้นจากการกระเพื่อมของโครงสร้างปริภูมิ-เวลา อันเป็นผลมาจากการเคลื่อนที่แกว่งไปมาอย่างรวดเร็วของสสารมวลแน่นอย่างหลุมดำหรือดาวนิวตรอน คลื่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป และมันเป็นได้เพียงทฤษฎีมานานถึงหนึ่งศตวรรษเต็ม จนกระทั่งมีการค้นพบจริง ๆ เมื่อปีที่แล้ว และเพิ่งมีการประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ การค้นพบนี้เป็นการตอกย้ำความถูกต้องของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป เป็นการยืนยันว่า ความโน้มถ่วงไม่ใช่แรง แอปเปิ้ลของนิวตันไม่ได้ตกเพราะโลกดูด แต่ไหลเข้าหากันตามความบิดโค้งของปริภูมิเวลาที่มวลของทั้งสองสร้างขึ้น ความรู้นี้ยังได้ให้กำเนิดวิชาดาราศาสตร์แขนงใหม่ที่เรียกว่า "ดาราศาสตร์คลื่นความโน้มถ่วง" ที่อาจจะไปใช้ในการศึกษาเอกภพในแบบที่การสำรวจด้วยแสงทำไม่ได้

ดาวเคราะห์หมายเลขเก้า ตามจิตนาการของศิลปิน

ดาวเคราะห์หมายเลขเก้า ตามจิตนาการของศิลปิน

จรวดฟอลคอนในสภาพตั้งบนฐานจอด หลังจากกลับมาจากการขนส่ง

จรวดฟอลคอนในสภาพตั้งบนฐานจอด หลังจากกลับมาจากการขนส่ง

ยานโรเซตตา

ยานโรเซตตา

ดาวยันส์เซิน ตามจินตนาการของศิลปิน

ดาวยันส์เซิน ตามจินตนาการของศิลปิน

คลื่นความโน้มถ่วง ที่เกิดจากหลุมดำสองดวงใกล้ชนกัน

คลื่นความโน้มถ่วง ที่เกิดจากหลุมดำสองดวงใกล้ชนกัน

ที่มา: