สมาคมดาราศาสตร์ไทย

โกเมซเบอร์เกอร์

โกเมซเบอร์เกอร์

12 ก.ย. 2545
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ไม่ใช่เบอร์เกอร์ยี่ห้อใหม่ แต่เป็นชื่อเนบิวลา ๆ หนึ่งในในกลุ่มดาวคนยิงธนู เนบิวลาแฮมเบอร์เกอร์โกเมซ ตั้งชื่อตาม อาตูโร โกเมซ นักดาราศาสตร์ที่ค้นพบเป็นคนแรกด้วยกล้องบนโลก อยู่ห่างจากโลก 6,500 ปีแสง มีรูปร่างแปลกประหลาด เพราะดูเหมือนจานสองใบประกบกันโดยมีช่องว่างแบ่งกลาง ดูเผิน ๆ ก็เหมือนแฮมเบอร์เกอร์ จึงเป็นที่มาของชื่ออันเก๋ไก๋นี้ 

ดาวฤกษ์ที่อยู่ในเนบิวลาแฮมเบอร์เกอร์โกเมซเป็นดาวฤกษ์แบบดวงอาทิตย์ แต่มีอายุมากกว่า และได้เข้าสู่ช่วงปลายของวิวัฒนาการจนกลายเป็นดาวยักษ์แดงแล้ว ฝุ่นก๊าซรอบดาวเกิดจากการที่ดาวยักษ์แดงเป่าเนื้อดาวชั้นนอกออกมา แสงของเนบิวลาเกิดขึ้นจากการสะท้อนแสงจากดาวฤกษ์ของอนุภาคในเมฆ ส่วนที่เป็นแถบสีดำที่พาดกลางกลางเนบิวลาจนดูเหมือนไส้เบอร์เกอร์นั้น เป็นแถบก๊าซที่หนาแน่นมาก และมีทิศทางอยู่ในแนวเดียวกับโลก 

โดยปรกติ ดาวยักษ์แดงจะเป่าเนื้อดาวชั้นนอกออกในทุกทิศทางใกล้เคียงกัน แต่การที่เนบิวลาเบอร์เกอร์โกเมซรูปร่างที่แปลกประหลาด แสดงว่าการเป่าเนื้อดาวเกิดขึ้นอย่างไม่สมมาตร ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก ลักษณะของเนบิวลาดูเหมือนกับมีวงแหวนของก๊าซที่หนาทึบล้อมรอบดาวยักษ์แดงอยู่ 

"วงแหวนอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ดาวฤกษ์หมุนรอบตัวเองค่อนข้างเร็ว สสารจำนวนมากจะหลุดออกจากดาวออกไปในแนวเส้นศูนย์สูตร กลายเป็นวงแหวนรอบดาว" โฮเวิร์ด บอนด์ จากสถาบันวิทยาศาสตร์กล้องโทรทรรศน์อวกาศ หนึ่งในคณะของโครงการฮับเบิลเฮอริเทจ อธิบาย 

แต่สำหรับกรณีของดาวยักษ์แดง ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่ขยายขนาดใหญ่ขึ้น จึงควรหมุนช้ามาก แต่บางกรณีก็อาจเป็นไปได้ เช่นหากดาวยักษ์แดงนั้นมีดาวบริวารอยู่ด้วย แรงน้ำขึ้นลงจากดาวบริวารจะช่วยให้ดาวยักษ์แดงรักษาอัตราหมุนอยู่ได้ 

ขณะนี้ เนบิวลาเบอร์เกอร์โกเมซกำลังอยู่ในช่วงระยะวิวัฒนาการระยะสั้น ๆ ดาราศาสตร์คาดว่าภายใน 1,000 ปีข้างหน้านี้ ดาวยักษ์แดงในใจกลางจะร้อนขึ้นมากจนแผ่รังสีอัลตราไวโอเลตมากขึ้น และทำให้ก๊าซที่อยู่รอบ ๆ เรืองแสงขึ้น กลายเป็นเนบิวลาดาวเคราะห์เต็มรูปแบบ 

เนบิวลาเบอร์เกอร์โกเมซ อยู่ห่างจากโลก 6,500 ปีแสง ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545

เนบิวลาเบอร์เกอร์โกเมซ อยู่ห่างจากโลก 6,500 ปีแสง ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545

ที่มา: