สมาคมดาราศาสตร์ไทย

การลุกจ้ารังสีเอกซ์บนดาวพฤหัสบดี

การลุกจ้ารังสีเอกซ์บนดาวพฤหัสบดี

16 มี.ค. 2545
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ปลายปี 2543 เป็นช่วงเวลาที่มีการสำรวจดาวพฤหัสบดีพร้อม ๆ กันในระยะใกล้จากยานอวกาศ ลำ นั่นคือยานกาลิเลโอ และยานแคสซีนี เป็นโอกาสอันพิเศษสุดที่หาไม่ได้ง่ายนัก ในครั้งนั้น ยานแคสซีนีได้ตรวจพบแสงวาบรังสีเอกซ์ออกมาจากดาวพฤหัสบดีเป็นช่วง ๆ ห่างกันช่วงละ 45 นาที แสงวาบนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2543 และเกิดขึ้นเป็นเวลานาน 10 ชั่วโมง หรือ รอบการหมุนรอบตัวเองของดาวพฤหัสบดี 

การลุกจ้ารังสีเอกซ์จากดาวพฤหัสบดีไม่ใช่เรื่องใหม่ ยานอวกาศที่เคยไปสำรวจดาวพฤหัสบดีก่อนหน้านี้ก็เคยพบแสงวาบนี้มาแล้ว เพียงไม่สามารถระบุตำแหน่งที่เกิดได้แน่ชัด แต่ในครั้งนี้สถานีสังเกตการณ์จันทราสามารถตรวจจับได้ว่ารังสีนั้นเกิดขึ้นที่บริเวณขั้วแม่เหล็กทั้งสอง และส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ขั้วเหนือมากกว่า 

รายงานการค้นพบนี้เป็นของแรนดี แกลดสโตน จากสถาบันวิจัยเซาท์เวสต์ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เคยตั้งสมมุติฐานว่ารังสีเอกซ์จากดาวพฤหัสบดีเกิดขึ้นมาจากไอออนของออกซิเจนและกำมะถันจากภูเขาไฟบนไอโอชนเข้ากับไฮโดรเจนและฮีเลียมในบรรยากาศของดาวพฤหัสบดี แต่ข้อมูลจากจันทราทำให้สมมุติฐานนี้ต้องตกไป เนื่องจากไอออนจากไอโอจะปลิวไปตกบนดาวพฤหัสบดีที่ละติจูดไม่ไกลจากเขตศูนย์สูตรมากนัก การที่จันทราพบว่าแหล่งเรืองแสงรังสีเอกซ์เกิดขึ้นใกล้ขั้วแม่เหล็ก แสดงว่าต้นกำเนิดของไอออนจะต้องอยู่ห่างจากดาวพฤหัสบดีไม่น้อยกว่า 30 เท่าของรัศมีดาวพฤหัสบดี ผลสรุปเช่นนี้ทำให้เกิดปัญหาข้อใหม่ขึ้นมาทันที เนื่องจากข้อมูลจากยานอวกาศลำก่อนหน้านี้พบว่าในบริเวณดังกล่าวมีไอออนและของออกซิเจนและกำมะถันน้อยเกินกว่าที่จะทำให้เกิดแสงวาบนี้ได้ 

ด้วยเหตุนี้ ทีมงานของแกลดสโตนจึงต้องมองหาแหล่งกำเนิดไอออนแหล่งใหม่ หนึ่งในผู้ต้องสงสัยที่อาจจะเป็นไปได้ก็คือ ดวงอาทิตย์ หากสนามแม่เหล็กในแมกนิโตสเฟียร์ของดาวพฤหัสบดีสามารถคว้าจับไอออนหนักจากลมสุริยะเอาไว้ได้ ไอออนเหล่านั้นจะวิ่งไปตามเส้นแรงแม่เหล็กกลับไปกลับมาระหว่างขั้วเหนือและขั้วใต้ ซึ่งแนวคิดนี้ดูจะเข้ากันได้ดีกับคาบ 45 นาทีของแสงวาบที่จันทราตรวจพบอีกด้วย 

การเรืองแสงรังสีเอกซ์บนดาวพฤหัสบดี เกิดขึ้นใกล้กับขั้วทั้งสองของดาว (ภาพจาก NASA / CXC / SWRI / G.R.Gladstone et al.)

การเรืองแสงรังสีเอกซ์บนดาวพฤหัสบดี เกิดขึ้นใกล้กับขั้วทั้งสองของดาว (ภาพจาก NASA / CXC / SWRI / G.R.Gladstone et al.)

ภาพจากสถานีสังเกตการณ์จันทรา แสดงการเกิดแสงวาบรังสีเอกซ์บนดาวพฤหัสบดีในระยะเวลา 10 ชั่วโมง หรือ 1 รอบของการหมุนรอบตัวเอง (ภาพจาก NASA / SWRI / G.R.Gladstone et al.)

ภาพจากสถานีสังเกตการณ์จันทรา แสดงการเกิดแสงวาบรังสีเอกซ์บนดาวพฤหัสบดีในระยะเวลา 10 ชั่วโมง หรือ 1 รอบของการหมุนรอบตัวเอง (ภาพจาก NASA / SWRI / G.R.Gladstone et al.)

ที่มา: