สมาคมดาราศาสตร์ไทย

แคสซีนี กาลิเลโอ และฮับเบิลร่วมกันสำรวจดาวพฤหัสบดี

แคสซีนี กาลิเลโอ และฮับเบิลร่วมกันสำรวจดาวพฤหัสบดี

7 ม.ค. 2544
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ในช่วงปลายปี 2543 จนถึงต้นปี 2544 นี้ เป็นช่วงเวลาที่มีความคึกคักในการสำรวจดาวพฤหัสบดีมากที่สุดในรอบหลาย ๆ ปี เมื่อยานอวกาศและกล้องโทรทรรศน์อวกาศรุมกันสำรวจดาวเคราะห์ยักษ์ดวงนี้

การสำรวจในครั้งนี้ ถือโอกาสจากการที่ยานแคสซีนีที่จะไปสำรวจดาวเสาร์ได้เข้าเฉียดดาวพฤหัสบดีเพื่อเร่งความเร็ว ทางนาซาจึงให้ยานแคสซีนีสำรวจดาวพฤหัสบดีพร้อม ๆ กับยานกาลิเลโอที่โคจรและสำรวจดาวพฤหัสบดีอยู่ก่อนแล้ว การสำรวจเป้าหมายเดียวกันพร้อม ๆ กันของยานอวกาศสองลำเช่นนี้ เป็นโอกาสที่แสนวิเศษในการทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมของดาวพฤหัสบดีโดยเฉพาะแสงเหนือใต้ ในขณะเดียวกัน กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลก็ร่วมวงการสำรวจดาวพฤหัสบดีในครั้งนี้ด้วย โดยจะใช้อุปกรณ์ STIS (Space Telescope Imaging Spectrograph) ถ่ายภาพในย่านรังสีอัลตราไวโอเลต ส่วนยานแคสซีนีจะตรวจวัดความดันของลมสุริยะด้วยอุปกรณ์นานาชนิดที่ติดบนยาน

แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะรู้จักแสงเหนือใต้ของโลกเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่สำหรับแสงเหนือใต้ของดาวพฤหัสบดีนั้นแตกต่างไปโดยสิ้นเชิง นักดาราศาสตร์ยังไม่ทราบว่ากลไกอะไรที่มีอิทธิพลต่อแสงเหนือใต้ของดาวพฤหัสบดี มันมีพลังงานมากกว่าแสงเหนือใต้บนโลกถึงเกือบ 1,000 เท่า และดูเหมือนกับมีความซับซ้อนมากกว่าอีกด้วย นี่คือเหตุผลที่นักดาราศาสตร์ให้ความสนใจกับแสงเหนือใต้ของดาวพฤหัสบดีมากเป็นพิเศษ

ยานแคสซีนีจะอยู่ทางด้านสว่างของดาวพฤหัสบดี คอยเก็บข้อมูลเกี่ยวกับลมสุริยะ เช่น ความเร็ว อุณหภูมิ ความดัน ความหนาแน่นและขั้วของสนามแม่เหล็ก ในขณะที่ยานกาลิเลโอจะช่วยสำรวจอยู่ภายในชั้นแมกนีโตสเฟียร์ของดาวพฤหัสบดี ส่วนกล้องฮับเบิลจะถ่ายภาพโดยรวมจากตำแหน่งใกล้โลก

การสำรวจในครั้งนี้นอกจากจะให้ความเข้าใจในดาวพฤหัสบดีแล้ว ยังช่วยขยายขอบเขตความรู้ของนักดาราศาสตร์ออกไปนอกระบบสุริยะของเราอีกด้วย "ความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างลมสุริยะกับบรรยากาศของดาวพฤหัสบดีและแมกนีโตสเฟียร์ เป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความเข้าใจในดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่น ดาวเคราะห์พวกนั้นเท่าที่ถูกค้นพบมาล้วนแต่โคจรอยู่ใกล้กับดาวฤกษ์แม่ทั้งนั้น ดังนั้นการศึกษากระบวนการต่าง ๆ ของแสงเหนือใต้ของดาวพฤหัสบดีจึงมีความสำคัญมาก" โลต์ฟิ เบน ฌาเฟล จากสถาบันฟิสิกส์ดาราศาสตร์แห่งปารีส อธิบาย

ยานแคสซีนีจะเคลื่อนผ่านดาวพฤหัสบดีในเดือนมกราคม 2544 ทำให้ยานมองเห็นดาวพฤหัสบดีในด้านมืด ในขณะที่ฮับเบิลยังคงถ่ายภาพดาวเสาร์จากด้านสว่างอยู่ จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ข้อมูลของแสงเหนือใต้ของดาวพฤหัสบดีทั้งสองด้านในเวลาเดียวกัน ข้อมูลทั้งสองส่วนจะถูกนำมาเปรียบเทียบเพื่อสร้างแบบจำลองของแสงเหนือใต้ ซึ่งคาดว่าจะสำเร็จภายในต้นปี 2544 นี้

ที่มา: