สมาคมดาราศาสตร์ไทย

แถบดาวเคราะห์น้อยในระบบสุริยะอื่น

แถบดาวเคราะห์น้อยในระบบสุริยะอื่น

19 มิ.ย. 2544
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ที่สมาคมดาราศาสตร์อเมริกาเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการรายงานการค้นพบระบบสุริยะอื่นเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งโดยนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลีส แต่ระบบสุริยะใหม่นี้ไม่ได้ถูกพบโดยการพบดาวเคราะห์บริวาร แต่เกิดจากการพบสิ่งที่เหมือนแถบดาวเคราะห์น้อยโคจรรอบดาวฤกษ์ดวงหนึ่ง

ดาวฤกษ์ดวงนี้คือ ซีตา กระต่ายป่า (Zeta Leporis) อยู่ในกลุ่มดาวกระต่ายป่า ห่างจากโลกเพียง 70 ปีแสง เมื่อทศวรรษ 1980 นักดาราศาสตร์ได้สังเกตพบการแผ่รังสีอินฟราเรดจากดาวฤกษ์ดวงนี้ในปริมาณมากผิดปรกติ จึงได้สันนิษฐานว่าดาวฤกษ์ดวงนี้อาจมีเมฆฝุ่นล้อมรอบอยู่ ซึ่งฝุ่นจะเปล่งรังสีอินฟราเรดเมื่อได้รับความร้อนจากดาวฤกษ์

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คริสตีน เฉิน และไมค์ จูรา จากยูซีแอลเอ ได้สำรวจดาวซีตา กระต่ายป่าและเมฆฝุ่นที่ห่อหุ้มโดยสเปกโทรมิเตอร์คลื่นยาวที่ติดอยู่กับกล้องโทรทรรศน์เคกในฮาวาย เขาได้พบว่า เม็ดฝุ่นนั้นมีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 67 องศาเซลเซียส ซึ่งแสดงว่าเมฆฝุ่นนั้นอาจอยู่ใกล้ดาวแม่ถึง 2.5 หน่วยดาราศาสตร์ และไม่เกิน 6.1 หน่วยดาราศาสตร์ 

ดาวฤกษ์ที่พบว่ามีเมฆฝุ่นล้อมรอบอยู่มีหลายดวง เช่นดาววีกา โฟมาโอลต์ และบีตา ขาตั้งภาพ แต่เมฆฝุ่นของดาวฤกษ์เหล่านั้นล้วนแต่อยู่ห่างจากดาวฤกษ์แม่มากทั้งสิ้น เทียบได้กับระยะทางของแถบไคเปอร์กับดวงอาทิตย์ แต่สำหรับเมฆฝุ่นของดาวซีตา กระต่ายป่านี้อยู่ใกล้กว่ามากโดยเทียบได้กับระยะห่างระหว่างดวงอาทิตย์กับแถบดาวเคราะห์น้อย (2.7 หน่วยดาราศาสตร์) เลยทีเดียว

นักดาราศาสตร์คาดว่า ฝุ่นที่เล็กขนาดเป็นไมครอนที่ล้อมรอบดาวซีตา กระต่ายป่านี้มีอายุสั้น โดยสามารถคงอยู่ในวงโคจรได้ไม่เกิน 20,000 ปีเท่านั้น หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ลดระดับความสูงควงสว่านตกลงสู่ผิวดาวในที่สุด ซึ่งเรียกว่าปรากฏการณ์ พอยน์ทิง-โรเบิร์ตสัน ในขณะที่ดาวซีตา กระต่ายป่ามีอายุประมาณ 50-500 ล้านปี ดังนั้นฝุ่นที่พบรอบ ๆ ดาวซีตากระต่ายป่าที่เรามองเห็นนี้ไม่ใช่ฝุ่นที่เกิดขึ้นตอนที่ดาวฤกษ์เกิดอย่างแน่นอน 

นั่นหมายความว่าจะต้องมีกลไกบางอย่างคอยสร้างฝุ่นขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จึงมีฝุ่นให้เราเห็นในปัจจุบันนี้ได้ เช่นการชนกันของวัตถุก้อนใหญ่ ซึ่งอาจจะเป็นดาวเคราะห์น้อยขนาดเป็นเมตรหรือหลายกิโลเมตร การชนกันของวัตถุพวกนี้ทำให้เกิดเศษฝุ่นเล็ก ๆ กระเด็นฟุ้งกระจายออกมา เหตุการณ์เช่นนี้เชื่อว่าเคยเกิดขึ้นในระบบสุริยะของเรามาแล้วเมื่อครั้งที่ระบบสุริยะมีเพิ่งอายุราว 100 ล้านปี ซึ่งตรงกับช่วงที่โลกกำเนิดขึ้น

เฉินและจูรา ตั้งความหวังว่าจะวัดสเปกตรัมของรังสีอินฟราเรดของซีตา กระต่ายป่าเพื่อหาองค์ประกอบทางเคมีของเมฆผุ่นของดาวฤกษ์ดวงนี้ว่าเหมือนหรือต่างจากองค์ประกอบของระบบสุริยะของเราอย่างไร และต้องการที่จะศึกษากระบวนการที่เกิดขึ้นในช่วงการกำเนิดระบบสุริยะอีกด้วย

ดาวซีตา กระต่ายป่า

ดาวซีตา กระต่ายป่า

ที่มา: