สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สิ่งมีชีวิตใหม่ในทะเลสาบแอนตาร์กติกาสนับสนุนการมีสิ่งมีชีวิตในดาวดวงอื่น

สิ่งมีชีวิตใหม่ในทะเลสาบแอนตาร์กติกาสนับสนุนการมีสิ่งมีชีวิตในดาวดวงอื่น

1 ม.ค. 2543
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบแบคทีเรียภายใต้แผ่นน้ำแข็งลึกในทวีปแอนตาร์กติกา จุดประกายความหวังที่จะพบสิ่งมีชีวิตบนยูโรปา 

การค้นพบครั้งนี้เป็นผลงานของ ดร. คริส แมกเคย์ นักดาราศาสตร์ดาวเคราะห์ของ NASA Ames Research Center และทีมงาน จากงานวิจัยที่มีชื่อว่า Geomicro-bioloty of Subglacial Ice About Lake Vostok, Antarctica ซึ่งเป็นการวิเคราะห์น้ำแข็งที่อยู่เหนือทะเลสาบวอสตอก ทะเลสาบน้ำจืดที่ฝังตัวอยู่ใต้แผ่นน้ำแข็งหนาทางตะวันออกของทวีปแอนตาร์กติกา

การที่พบสิ่งมีชีวิตในสถานที่ ๆ มีสภาพแวดล้อมเลวร้ายที่สุดอย่างทะเลสาบวอสตอกนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่า สิ่งมีชีวิตสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้หลากหลายมาก และเป็นการเพิ่มความหวังที่จะพบสิ่งมีชีวิตในดาวเคราะห์ดวงอื่นหรือดวงจันทร์ของดาวเคราะห์ดวงอื่นที่มีสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกัน เช่น ดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดี ซึ่งภาพจากยานกาลิเลโอได้หลักฐานหลายอย่างว่ามีมหาสมุทรขนาดใหญ่อยู่ใต้แผ่นน้ำแข็งของผิวดวงจันทร์ยูโรปา 

คณะสำรวจนี้ได้ตรวจสอบตัวอย่างของก้อนน้ำแข็งจากใต้สถานีวอสตอกลงไป 3,590 เมตร ซึ่งอยู่เหนือรอยต่อระหว่างน้ำแข็งกับน้ำของทะเลสาบประมาณ 120 เมตร ผลการสำรวจได้พบสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเป็นจำนวนมากหลายชนิด การค้นพบครั้งนี้สร้างความพิศวงแก่นักวิทยาศาสตร์มาก เพราะบริเวณที่พบนี้มีพลังงานต่ำมากจนไม่น่าจะทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตได้ 

แม้ว่านักดาราศาสตร์ยังไม่ทราบความหนาของชั้นน้ำแข็งของดวงจันทร์ยูโรปา แต่ก็เชื่อว่าภายใต้พื้นผิวน้ำแข็งนั้นมีสภาพใกล้เคียงกับทะเลสาบวอสตอก จึงมีความหวังว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่ทะเลใต้สมุทรของดวงจันทร์ยูโรปาจะมีสิ่งมีชีวิตด้วยเช่นกัน 

ภาพแบคทีเรียจากกล้องจุลทรรศน์ ที่พบในน้ำแข็งเหนือทะเลสาบวอสตอก

ภาพแบคทีเรียจากกล้องจุลทรรศน์ ที่พบในน้ำแข็งเหนือทะเลสาบวอสตอก

ที่มา: