สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สตาร์ดัสต์ เริ่มเก็บฝุ่น

สตาร์ดัสต์ เริ่มเก็บฝุ่น

1 มี.ค. 2543
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ยานอวกาศสตาร์ดัสต์ของนาซา ได้เริ่มปฏิบัติการเก็บฝุ่นอวกาศเป็นครั้งแรกแล้ว เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากการเดินทางออกจากโลกไปกว่าปี 

การเก็บฝุ่นในครั้งแรกครั้งนี้ สตาร์ดัสต์ได้ยื่นแผงเก็บฝุ่นออกไปนอกยาน เพื่อเก็บฝุ่นท่ามกลางดวงดาวที่พัดผ่านเข้ามาในระบบสุริยะ แผงเก็บฝุ่นนี้จะคงอยู่ในสภาพเปิดและเก็บฝุ่นอย่างนี้ต่อไปอีกสามเดือน ฝุ่นจะถูกกักอยู่ในวัสดุเก็บฝุ่นที่ทำมาจากแอโรเจล วัสดุที่มีคุณสมบัติพรุนและเบา ซึ่งสามารถเก็บฝุ่นไว้ในสภาพที่มีรูปร่างและองค์ประกอบทางเคมีใกล้เคียงกับของเดิมที่สุด 

ปฏิบัติการเก็บฝุ่นในครั้งนี้ เกิดขึ้นในขณะที่ยานมีทิศทางเดียวกันกับของฝุ่นในอวกาศ ทั้งนี้เพื่อให้ฝุ่นพุ่งเข้ากระทบกับตัวเก็บฝุ่นด้วยความเร็วสัมพัทธ์ต่ำที่สุด ซึ่งหมายความว่าจะเก็บฝุ่นได้ง่ายกว่า การเก็บฝุ่นครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในกลางปี 2545 เมื่อทิศทางของยานขนานกับกระแสของธารฝุ่นอวกาศอีกครั้ง การเก็บฝุ่นทั้งสองครั้งนี้ คาดว่าสตาร์ดัสต์จะสามารถเก็บฝุ่นได้ประมาณ 100 เม็ด 

ในปี 2547 สตาร์ดัสต์จะเข้าใกล้ดาวหางวีลด์-2 (Wild-2) เมื่อถึงตอนนั้น ยานจะพลิกแผงเก็บฝุ่นให้ชุดเก็บฝุ่นอีกชุดหนึ่งที่อยู่ด้านตรงข้ามเข้าสู่กระแสธารฝุ่นของดาวหางเพื่อเก็บฝุ่นจากดาวหางดวงนี้ ฝุ่นทั้งหมดที่ดักได้จะถูกบรรจุลงแคปซูลและทิ้งให้ตกลงสู่โลกในปี 2549 ที่ทะเลทรายในรัฐยูทาห์ รอให้นักดาราศาสตร์มาเก็บไปวิเคราะห์ฝุ่นต่อไป สตาร์ดัสต์นับเป็นยานอวกาศลำแรกที่มีการนำตัวอย่างจากดาวหางกลับมาสู่โลก 

ฝุ่นดาวหางนับเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับนักดาราศาสตร์ เพราะดาวหางเป็นวัตถุที่เกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กับการก่อร่างสร้างตัวของระบบสุริยะ โมเลกุลต่าง ๆ ในดาวหางก็ยังคงสภาพดั้งเดิมของระบบสุริยะในยุคนั้นเอาไว้จนถึงปัจจุบันนี้ ดังนั้นการศึกษาฝุ่นจากดาวหางนี้จะช่วยให้นักดาราศาสตร์ได้เข้าใจกำเนิดของระบบสุริยะได้ดีขึ้น 

ยานสตาร์ดัสต์เป็นยานลำที่ ที่อยู่ในโครงการชุดดิสคัฟเวอรี ยาน ลำก่อนหน้านี้คือ มาร์สพาทไฟน์เดอร์ ลูนาร์พรอสเปกเตอร์ และเนียร์ 

ภาพวาดของสตาร์ดัสต์ขณะเข้าใกล้ดาวหางตามจินตนาการของจิตรกร

ภาพวาดของสตาร์ดัสต์ขณะเข้าใกล้ดาวหางตามจินตนาการของจิตรกร

ที่มา: