สมาคมดาราศาสตร์ไทย

การลุกจ้าบนดาวก่อนเกิด

การลุกจ้าบนดาวก่อนเกิด

1 ธ.ค. 2543
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเกียวโตคณะหนึ่งนำโดย Tsuboi ได้ใช้สถานีสังเกตการณ์รังสีเอกซ์จันทรา (Chandra X-ray Observatory) สำรวจดาวก่อนเกิด (protostar) จำนวนหนึ่ง และได้พบว่าเกิดการลุกจ้าอย่างรุนแรง ดาวก่อนเกิดที่สำรวจในครั้งนี้จัดอยู่ในคลาส ซึ่งมีอายุประมาณ 100,000 ปี อยู่ในหมู่เมฆโมเลกุล โร คนแบกงู (Rho Ophiuchi) กลุ่มดาวคนแบกงู ห่างจากโลกประมาณ 500 ปีแสง นักดาราศาสตร์ได้พบว่ามีดาวก่อนเกิด 17 ดวงเปล่งรังสีเอกซ์ออกมาอย่างรุนแรงเหมือนกับเกิดการลุกจ้า (flare) จำนวนกว่าสิบครั้งในช่วงเวลา 27 ชั่วโมงที่ทำการสำรวจ

แท้จริงแล้ว ดาวก่อนเกิดยังไม่ใช่ดาวฤกษ์ แต่กำลังจะมีวิวัฒนาการไปเป็นดาวฤกษ์ มันยังอยู่ในช่วงของการสะสมมวลให้มากขึ้นโดยอาศัยแรงโน้มถ่วง เมื่อการสะสมมวลมากจนถึงจุดๆ หนึ่งจะทำให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ขึ้นที่ใจกลางดาว มันก็จะกลายเป็นดาวฤกษ์โดยสมบูรณ์ แต่ดาวก่อนเกิดไม่มีปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่จะให้ความร้อน มันจึงมีอุณหภูมิต่ำมาก อาจต่ำถึง -240 องศาเซลเซียส ด้วยเหตุนี้ นักดาราศาสตร์จึงประหลาดใจมากที่พบว่าวัตถุที่เย็นอย่างนี้เกิดการลุกจ้าร้อนแรงขึ้นมาได้อย่างไร ยิ่งกว่านี้ การลุกจ้าที่พบนี้รุนแรงกว่าการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ถึง 10-100,000 เท่า และมีอุณภูมิสูงถึง 100 ล้านองศาเซลเซียส Tsuboi เชื่อว่ากลไกในการเกิดการลุกจ้ารังสีเอกซ์ที่เกิดขึ้นบนดาวก่อนเกิดเหล่านี้น่าจะเกิดจากสนามแม่เหล็กเช่นเดียวกับบนดวงอาทิตย์ของเรา แต่สนามแม่เหล็กบนดาวก่อนเกิดพวกนี้มีขนาดใหญ่มาก อาจใหญ่ถึง 10 เท่าของรัศมีของดวงอาทิตย์ เขายังเชื่อด้วยว่า การเกิดสนามแม่เหล็กและการลัดวงจรของสนามแม่เหล็กอาจจะเกี่ยวข้องกับการหดตัวของดาวฤกษ์อีกด้วย

เมฆ โร คนแบกงู (DSS)

เมฆ โร คนแบกงู (DSS)

ที่มา: