สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สรุปข่าวดังปี 2541

สรุปข่าวดังปี 2541

1 ม.ค. 2542
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
จอห์น เกลน กลับสู่ห้วงอวกาศอีกครั้ง

วุฒิสมาชิกจอห์น เกลน ได้กลับขึ้นไปท่องอวกาศอีกครั้งกับกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรีเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2541 การเดินทางสู่อวกาศเป็นเวลา วันของจอห์น เกลนในครั้งนี้ มีวัตุประสงค์หลักเพื่อศึกษาปฏิกิริยาต่าง ๆ ของผู้สูงอายุในสภาพไร้น้ำหนัก นอกจากนั้นเขายังร่วมทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์อื่น ๆ ด้วย รวมทั้งการทดลองเกี่ยวกับ แอโรเจล วัสดุน้ำหนักเบาชนิดใหม่ซึ่งจะมาปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ในอนาคต ภารกิจของดิสคัฟเวอรีในครั้งนี้นับเป็นภารกิจทางวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดครั้งหนึ่งของนาซาเลยทีเดียว 

การระเบิดครั้งใหญ่ของรังสีแกมมา

ได้มีการตรวจพบการระเบิดแห่งหนึ่งในอวกาศ ซึ่งมีการปลดปล่อยรังสีแกมมาอย่างรุนแรง พลังงานที่ปลดปล่อยออกมานี้สูงกว่าการคาดการณ์ทางทฤษฎีนับร้อยเท่า และเป็นการระเบิดที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยตรวจพบ หรือเรียกได้ว่าเป็นการระเบิดที่รุนแรงที่สุดรองจากบิกแบงเลยทีเดียว นักดาราศาสตร์บางคนอธิบายว่า มันอาจเป็นอภิมหาซูเปอร์โนวาที่เรียกว่าไฮเปอร์โนวา หรืออาจเกิดจากดาวนิวตรอนที่มาชนกัน แต่สาเหตุที่แท้จริงของการระเบิดนั้นยังคงเป็นปริศนาอยู่จนถึงบัดนี้ 

 

ดาวเคราะห์น้อย 1997 XF11 จะชนโลก 

ได้เกิดกระแสข่าวขึ้นมาว่า มีดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งชื่อว่า 1997 XF11 มีวงโคจรที่ตัดกับวงโคจรของโลกพอดี และในปี พ.ศ. 2571 มันจะพุ่งเข้าชนโลก ข่าวนี้เกิดขึ้นมาในช่วงที่ภาพยนตร์ดังที่เสนอเรื่องของอันตรายจากวัตถุนอกโลกกำลังเข้าฉายพอดี จึงทำให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ผู้คนทั่วทั้งโลก แต่กระแสก็เงียบลงไปด้วยดีเมื่อนักดาราศาสตร์ยืนยันว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะเพียงแค่เฉียดโลกไปเท่านั้น 

 

ภาพถ่ายดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ

กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลสามารถ่ายภาพซึ่งเชื่อว่า อาจเป็นภาพของดาวเคราะห์ที่เป็นบริวารของดาวฤกษ์ดวงอื่นที่กำลังถูกผลักออกไปอย่างแรงโดยดาวแม่ของมัน ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้นี้อาจเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรกที่ถูกค้นพบโดยการถ่ายภาพโดยตรง 

 

ยานลูนาร์พรอสเปกเตอร์พบน้ำแข็งบนดวงจันทร์

หลังจากที่ยานเคลเมนไทน์ได้พบร่องรอยของน้ำแข็งที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ในปี 2539 หลังจากนั้น ในต้นปี 2541 ยานลูนาร์พรอสเปกเตอร์ได้เดินทางไปถึงดวงจันทร์พร้อมกับอุปกรณ์คุณภาพเยี่ยมอย่างสเปกโทรมิเตอร์รังสีแกมมา และสามารถยืนยันว่า ที่ขั้วทั้งสองของดวงจันทร์มีน้ำอยู่จริง และยังพบว่าปริมาณน้ำที่พบนี้มีมากกว่าที่คาดการณ์ไว้จากข้อมูลของยานเคลเมนไทน์เสียอีก ขณะนี้ยานลูนาร์พรอสเปกเตอร์ยังคงโคจรรอบดวงจันทร์และเก็บข้อมูลส่งมายังโลกอยู่ตลอดเวลา 

 

ฝนดาวตก

ในปี 2541 นี้นับเป็นการกลับมาของฝนดาวตกสิงโต ซึ่งถือว่าเป็นราชาแห่งฝนดาวตก ประชาชนทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทยมีการตื่นตัวอย่างมากที่จะเฝ้ารอชมฝนดาวตกที่คาดว่าจะยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบ 33 ปีนี้ ความคึกคักของผู้คนที่ออกเดินทางไปแหงนหน้าดูท้องฟ้าในวันที่ 17/18 นั้นไม่น้อยไปกว่าเมื่อครั้งสุริยุปราคาในปี 2538 เลย แต่แล้วฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโตนี้ก็สร้างความผิดหวังพอสมควรเนื่องจากอัตราตกมีไม่มากอย่างที่คิดและช่วงเวลาที่ตกสูงสุดกลับเกิดขึ้นก่อนเวลาที่คำนวณเอาไว้ถึง 15 ชั่วโมง โดยอัตราตกสูงสุดเพียงประมาณ 400-500 ดวงต่อชั่วโมงเท่านั้น 

ในขณะที่ฝนดาวตกสิงโตทำให้คนส่วนใหญ่ผิดหวัง แต่ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 13-14 ธันวาคม กลับตกชุกกว่าทุก ๆ ครั้งที่เคยมีมา และเชื่อว่า ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ในปีหน้าจะเกิดขึ้นมากกว่าปีนี้อีกด้วย 

ที่มา: