สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ความดันบรรยากาศของดาวพลูโตกำลังดำดิ่ง

ความดันบรรยากาศของดาวพลูโตกำลังดำดิ่ง

2 ส.ค. 2558
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ในช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ของภารกิจนิวเฮอไรซอนส์เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา ยานได้ตรวจวัดสมบัติทางกายภาพหลายอย่างของระบบดาวพลูโต หนึ่งในสมบัติเหล่านั้นก็คือ ความดันบรรยากาศ และนิวเฮอไรซอนส์ก็ทำให้นักดาราศาสตร์ต้องประหลาดใจ เมื่อพบว่าความดันบรรยากาศของดาวพลูโตต่ำกว่าที่เคยวัดไว้ก่อนหน้านี้มาก 

การวัดความดันบรรยากาศของดาวพลูโตเป็นงานของอุปกรณ์ชื่อ เร็กซ์ ซึ่งได้วัดเมื่อยานพุ่งเฉียดดาวพลูโตผ่านไปแล้วราวหนึ่งชั่วโมงด้วยเทคนิคใหม่ที่ไม่เคยทำที่ไหนมาก่อน วิธีนี้จะใช้จานสายอากาศสองใบบนโลกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายดีปสเปซเล็งไปยังดาวพลูโตแล้วยิงคลื่นวิทยุไป โดยตั้งเวลาให้สัญญาณไปกระทบพื้นผิวดาวพลูโตในจังหวะที่ยานเพิ่งผ่านหลังดาวพลูโตไปพอดี คลื่นวิทยุจะแทรกผ่านบรรยากาศของดาวพลูโตแล้วถูกบรรยากาศหักเหให้เลี้ยวเข้าสู่ยานนิวเฮอไรซอนส์ ระดับความมากน้อยของการหักเหวัดได้จากการเลื่อนความถี่ของคลื่นวิทยุนั้น ซึ่งผลที่ได้แสดงว่าความดันบรรยากาศที่พื้นผิวของดาวพลูโตมีอยู่เพียง 1/100,000 เท่าของความดันบรรยากาศโลก ซึ่งน้อยกว่าที่เคยมีการคำนวณไว้โดยอาศัยข้อมูลการสังเกตการณ์จากพื้นโลกมาก

เป็นเรื่องน่าสนใจที่ภายในเวลาไม่กี่ปี เราพบความเปลี่ยนแปลงอย่างมากบนบรรยากาศของดาวพลูโต นั่นย่อมแสดงว่าพลูโตกำลังมีการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศครั้งใหญ่ และสิ่งนั้นก็กำลังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาของเรานี้เอง

นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า แก๊สครึ่งหนึ่งในบรรยากาศดาวพลูโตได้ควบแน่นเป็นละอองตกลงสู่พื้นผิวไปแล้ว เป็นการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลอันยาวนานของดาวเคราะห์แคระดวงนี้ หากข้อสันนิษฐานนี้เป็นจริง ความดันบรรยากาศของดาวพลูโตจะต้องลดลงอย่างต่อเนื่องต่อจากนี้

ข้อมูลด้านบรรยากาศของดาวพลูโตอีกมากยังคงเก็บอยู่ในยานนิวเฮอไรซอนส์ รอเวลาทยอยส่งกลับมายังโลก คาดว่าข้อมูลจากอุปกรณ์เร็กซ์ชุดต่อไปจะส่งกลับมาภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ 
กราฟแสดงระดับความดันบรรยากาศของดาวพลูโตเมื่อวัดในอดีต รวมถึงเมื่อวัดด้วยอุปกรณ์เร็กซ์ของยานนิวเฮอไรซอนส์เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา แสดงถึงระดับความดันที่ลดลงไปอย่างมาก

กราฟแสดงระดับความดันบรรยากาศของดาวพลูโตเมื่อวัดในอดีต รวมถึงเมื่อวัดด้วยอุปกรณ์เร็กซ์ของยานนิวเฮอไรซอนส์เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา แสดงถึงระดับความดันที่ลดลงไปอย่างมาก (จาก NASA/JHUAPL/SwRI)

ที่มา: