สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พายุสุริยะซัดดาวอังคาร สว่างวาบทั้งดวง

พายุสุริยะซัดดาวอังคาร สว่างวาบทั้งดวง

14 ต.ค. 2560
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
จะเกิดอะไรขึ้น หากจู่ ๆ ท้องฟ้าทั่วทั้งดาวเคราะห์เกิดสว่างพรึ่บขึ้นมาทั่วทั้งดวง หากเกิดบนโลก คนทั้งโลกคงจะต้องแตกตื่นโกลาหลเพราะคิดว่าวาระสุดท้ายของโลกจะมาถึงเป็นแน่

สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา แต่โชคดีที่เกิดบนดาวอังคาร ไม่ใช่บนโลก 

เหตุการณ์นี้ได้รับการบันทึกโดยยานสำรวจดาวอังคารหลายลำที่กำลังปฏิบัติภารกิจอยู่บนดาวอังคารทั้งภาคพื้นดินและจากวงโคจร โดยเฉพาะจากยานมาเวนของนาซา ซึ่งวัดความความเข้มของรังสีอัลตราไวโอเลตจากบรรยากาศได้รุนแรงกว่าที่เคยบันทึกไว้ถึง 25 เท่า ส่วนเครื่องวัดรังสีที่อยู่บนรถคิวริโอซิตีก็วัดระดับของรังสีบนพื้นผิวดาวอังคารได้เข้มข้นกว่าระดับสูงสุดที่เคยบันทึกไว้ได้ถึงสองเท่า

ปรากฏการณ์นี้คือแสงเหนือใต้คล้ายกับที่เกิดขึ้นบนโลก แสงเหนือใต้เกิดขึ้นจากพายุสุริยะทำอันตรกิริยากับบรรยากาศชั้นบน พายุสุริยะเกิดขึ้นจากการปะทุครั้งใหญ่ของการพ่นมวลคอโรนา เมื่อพายุสุริยะพัดเข้าใส่บรรยากาศโลก จะกระตุ้นให้เกิดแสงเหนือใต้ซึ่งมองเห็นได้ในเขตขั้วโลกทั้งเหนือและใต้ ในกรณีที่รุนแรง พายุสุริยะอาจรบกวนระบบสื่อสารวิทยุ หรือถึงกับทำลายระบบสายส่งไฟฟ้าได้ 

แต่ที่ดาวอังคาร บางสิ่งต่างไป สนามแม่เหล็กบนดาวอังคารไม่เข้มข้นอย่างของโลก จึงไม่แรงพอที่จะกวาดต้อนอนุภาคในลมสุริยะไปเบียดเสียดตรงเฉพาะที่ขั้วดาวดังเช่นบนโลก ดังนั้นเมื่อพายุสุริยะพัดปะทะดาวอังคาร จึงเกิดแสงเหนือใต้ (ที่ไม่ได้เกิดเฉพาะขั้วเหนือใต้) ลุกสว่างขึ้นในย่านรังสีอัลตราไวโอเลตทั่วทั้งดวง 

"ดาวอังคารสว่างพรึ่บขึ้นมาทั้งดวงเหมือนหลอดไฟเลย" โซนัล เจน หนึ่งในคณะทำงานของอุปกรณ์ถ่ายภาพอัลตราไวโอเลตของมาเวนเปรียบ

ระดับรังสีที่วัดได้ถือว่าเป็นอันตรายต่อมนุษย์ เมื่อพายุสุริยะพัดกระทบบรรยากาศ จะทำให้เกิดรังสีคอสมิกทุติยภูมิตกลงถึงพื้นผิวได้ หากขณะนั้นมีมนุษย์อวกาศอยู่บนดาวอังคาร จะต้องรีบหาที่กำบังมิให้ร่างกายรับรังสีนั้น ดังนั้นการศึกษาปรากฏการณ์นี้จะช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจว่ากัมมันตภาพสุริยะมีผลต่อสภาพแวดล้อมของดาวอังคารได้อย่างไร ซึ่งเป็นประโยชน์ในการวางแผนป้องกันมนุษย์ที่จะไปปฏิบัติภารกิจบนดาวอังคารจากรังสีอันตรายในอนาคต

ภาพถ่ายจากสเปกโทรกราฟอัลตราไวโอเลตที่อยู่บนยานมาเวนของนาซา <wbr>แสดงถึงรังสีอัลตราไวโอเลตที่ลุกโพลงขึ้นทั่วทั้งดวงในช่วงกลางเดือนกันยายน <wbr>ภาพส่วนสีม่วงแสดงด้านกลางคืน <wbr>ภาพซ้ายเป็นภาพปกติ <wbr>ภาพขวาถ่ายในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์<br />

ภาพถ่ายจากสเปกโทรกราฟอัลตราไวโอเลตที่อยู่บนยานมาเวนของนาซา แสดงถึงรังสีอัลตราไวโอเลตที่ลุกโพลงขึ้นทั่วทั้งดวงในช่วงกลางเดือนกันยายน ภาพส่วนสีม่วงแสดงด้านกลางคืน ภาพซ้ายเป็นภาพปกติ ภาพขวาถ่ายในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์
(จาก NASA/GSFC/Univ. of Colorado)

ภาพแอนิเมชันแสดงการลุกโพลงอย่างฉับพลันในรังสีอัลตราไวโอเลตที่ถ่ายในระหว่างวันที่ <wbr>12-13 <wbr>กันยายน <wbr>2560 <wbr>โดยสเปกโทรกราฟอัลตราไวโอเลตของยานมาเวน<br />
<br />

ภาพแอนิเมชันแสดงการลุกโพลงอย่างฉับพลันในรังสีอัลตราไวโอเลตที่ถ่ายในระหว่างวันที่ 12-13 กันยายน 2560 โดยสเปกโทรกราฟอัลตราไวโอเลตของยานมาเวน

(จาก NASA/GSFC/Univ. of Colorado)

ที่มา: