สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวผีดิบ ตายแล้วฟื้น

ดาวผีดิบ ตายแล้วฟื้น

10 เม.ย. 2561
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
หอสังเกตการณ์อินทีกรัลขององค์การอีซา ได้ตรวจพบปรากฏการณ์ประหลาดที่เกิดได้ยากยิ่ง ดาวที่ตายแล้วดวงหนึ่งกลับคืนชีพขึ้นมาด้วยการปลุกจากดาวข้างเคียง

ดาวคู่นี้มีชื่อว่า ไอจีอาร์ เจ 17329-2731 (IGR J17329-2731) ค้นพบโดยหอสังเกตการณ์อินทีกรัลเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2560 นักดาราศาสตร์เชื่อว่าดาวสองดวงนี้ได้โคจรรอบกันเป็นดาวคู่มาเป็นเวลาหลายพันล้านปีแล้ว แต่นั่นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก เพราะดาวส่วนใหญ่ในเอกภพมักอยู่กันเป็นคู่อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ดาวคู่นี้มีความโดดเด่นเป็นพิเศษก็คือ ดาวสมาชิกในคู่นี้ดวงหนึ่งเป็นดาวยักษ์แดง อีกดวงหนึ่งเป็นดาวนิวตรอน ดาวคู่ลักษณะนี้มีชื่อเรียกเฉพาะว่าดาวคู่รังสีเอกซ์ซิมไบโอติก (symbiotic X-ray binary) ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนน้อย นักดาราศาสตร์รู้จักดาวคู่ประเภทนี้เพียงสิบคู่เท่านั้น

ดาวยักษ์แดงเป็นดาวฤกษ์มวลใกล้เคียงดวงอาทิตย์ที่อยู่ในช่วงท้ายของชีวิต เมื่อมวลในตัวลดต่ำลงมาก ความโน้มถ่วงของดาวจะรั้งเนื้อดาวส่วนนอกไว้ไม่อยู่ ดาวจะพองออกใหญ่ขึ้นนับล้านกิโลเมตรพร้อมกับพ่นเนื้อดาวออกสู่ภายนอกจำนวนมากด้วยความเร็วหลายร้อยกิโลเมตรต่อวินาที 

ส่วนดาวนิวตรอน เกิดจากดาวฤกษ์มวลสูง ในกรณีของดาวนิวตรอนในดาวคู่นี้ มีมวลตั้งต้นประมาณ 25-30 เท่าของดวงอาทิตย์ เมื่อดาวมวลสูงระดับนี้เข้าสู่บั้นปลายชีวิตจะระเบิดออกเป็นซูเปอร์โนวา เหลือเพียงแก่นกลางที่ประกอบด้วยนิวตรอนทั้งหมด มีสนามแม่เหล็กเข้มข้นและความหนาแน่นสูงมาก ดาวนิวตรอนที่มีมวลประมาณเท่าครึ่งของดวงอาทิตย์อาจมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 กิโลเมตรเท่านั้น

และเมื่อเมื่อลมดาวจากดาวยักษ์แดงที่อยู่ข้างเคียงพัดมาสู่ดาวนิวตรอน ดาวนิวตรอนจะลดความเร็วในการหมุนรอบตัวเองลง และลุกโพลงขึ้นด้วยรังสีเอกซ์พลังงานสูง เป็นการปลุกดาวที่ตายไปแล้วให้คืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง ดังที่ปรากฏเป็นแสงวาบรังสีเอกซ์ ไอจีอาร์ เจ 17329-2731 ให้อินทีกรัลตรวจพบได้

หลังจากที่อินทีกรัลแจ้งการตรวจพบ ไอจีอาร์ เจ 17329-2731 ไปยังหอดูดาวอื่น กล้องเอ็กซ์เอ็มเอ็ม-นิวตันขององค์การอีซา กล้องนิวสตาร์ของนาซา กล้องโทรทรรศน์อวกาศสวิฟต์ รวมถึงกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินอีกจำนวนหนึ่งได้ติดตามสำรวจต้นกำเนิดแสงนี้ในทันที ซึ่งให้ผลยืนยันการตรวจพบการกำเนิดแสงครั้งแรกของอินทีกรัล

ดาวนิวตรอนดวงนี้หมุนรอบตัวเองช้ามาก ใช้เวลานานราวสองชั่วโมงจึงจะหมุนรอบตัวเองครบหนึ่งรอบ ในขณะที่ดาวนิวตรอนทั่วไปหมุนรอบตัวเองวินาทีละหลายรอบ สนามแม่เหล็กของดาวนิวตรอนดวงนี้ก็เข้มข้นกว่าที่คาดไว้ด้วย สนามแม่เหล็กของดาวนิวตรอนอ่อนลงเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้เชื่อว่าดาวนิวตรอนดวงนี้มีอายุน้อย การที่มาเข้าคู่กับดาวยักษ์แดงที่มีอายุมากจึงนับเป็นการจับคู่ที่แปลกประหลาด

คำอธิบายหนึ่งก็คือ ดาวนิวตรอนดวงนี้ไม่ได้เกิดจากซูเปอร์โนวา แต่เกิดจากดาวแคระขาว ตามทฤษฎีนี้ ดาวแคระขาวอาจกลายเป็นดาวนิวตรอนได้หากได้รับมวลมาเติมจากดาวยักษ์แดงข้างเคียงจนมากพอถึงระดับหนึ่ง 

อินทีกรัล เป็นหอสังเกตการณ์ลอยฟ้าที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปรากฏการณ์พลังงานสูงในเอกภพ เช่น หลุมดำ ดาวนิวตรอน นิวเคลียสดาราจักรกัมมันต์ ซูเปอร์โนวา เป็นโครงการร่วมระหว่างองค์การอีซา สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย 
ลมดาวจากดาวยักษ์แดงดวงหนึ่งพัดเข้าใส่ดาวนิวตรอนที่เป็นดาวสหายในระบบดาวคู่ ดาวนิวตรอนจะได้รับพลังงานมากพอจนลุกจ้าขึ้นในย่านรังสีเอกซ์ เหมือนได้คืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง

ลมดาวจากดาวยักษ์แดงดวงหนึ่งพัดเข้าใส่ดาวนิวตรอนที่เป็นดาวสหายในระบบดาวคู่ ดาวนิวตรอนจะได้รับพลังงานมากพอจนลุกจ้าขึ้นในย่านรังสีเอกซ์ เหมือนได้คืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง (จาก ESA)

หอสังเกตการณ์อินทีกรัลขององค์การอีซา เป็นหอสังเกตการณ์ลอยฟ้าที่ทำหน้าที่ศึกษาปรากฏการณ์ที่รุนแรงที่สุดในเอกภพ

หอสังเกตการณ์อินทีกรัลขององค์การอีซา เป็นหอสังเกตการณ์ลอยฟ้าที่ทำหน้าที่ศึกษาปรากฏการณ์ที่รุนแรงที่สุดในเอกภพ (จาก ESA)

ที่มา: