สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พบวัตถุโคจรรอบโลกดวงใหม่ เบาโหวงยิ่งกว่าโฟม

พบวัตถุโคจรรอบโลกดวงใหม่ เบาโหวงยิ่งกว่าโฟม

1 ก.พ. 2562
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา กล้องแอตลาส-เอชเคโอ ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ของโครงการแอตลาส (ATLAS--Asteroid Terrestrial-Impact Last Alert System) ได้ค้นพบวัตถุที่โคจรรอบโลกดวงใหม่ดวงหนึ่ง

โครงการแอตลาสเป็นโครงการของนาซา มีวัตถุประสงค์ในการค้นหาวัตถุแปลกปลอมที่อาจเป็นอันตรายต่อโลก  อย่างไรก็ตาม วัตถุที่พบใหม่นี้ไม่เป็นอันตรายต่อโลก เพียงแต่ออกจะแปลกสักหน่อย

วัตถุดวงนี้มีชื่อว่า เอ 10 บีเอ็มแอลแซด (A10bMLz)  มีวงโคจรรีมาก รัศมีวงโคจรเฉลี่ย 262,000 กิโลเมตร ซ้ำยังมีวงโคจรถอยหลัง (โคจรรอบโลกในทิศทางสวนทางกับดวงจันทร์) และพบว่ามีอัตราส่วนพื้นที่ต่อมวล 35 ตารางเมตรต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าสูงมาก นั่นแสดงว่าวัตถุนี้จะต้องโปร่งหรือกลวงมาก ทั้งที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางหลายเมตรแต่กลับมีมวลไม่ถึงหนึ่งกิโลกรัม บางทีอาจมีลักษณะเป็นฟอยล์โลหะ วัตถุลักษณะเช่นนี้นักวิทยาศาสตร์เรียกกันว่า วัตถุประเภท "ถุงขยะ" 

วงโคจรของ เอ 10 บีเอ็มแอลแซด (จาก dailymail)

นักวิทยาศาสตร์จากหอดูดาวนอร์โฮลต์บรานช์กล่าวว่า วัตถุดวงนี้ไม่น่าจะเป็นวัตถุธรรมชาติ แต่น่าเป็นชิ้นส่วนของจรวดที่ถูกทิ้งไว้ในวงโคจร แต่ก็ชี้ชัดไม่ได้ว่ามาจากจรวดลำไหน 

การที่มีความหนาแน่นต่ำ การเคลื่อนที่ของวัตถุนี้จึงอ่อนไหวต่อรังสีจากดวงอาทิตย์มาก การพยากรณ์ตำแหน่งและเส้นทางการเคลื่อนที่จึงทำได้ยาก อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์คาดว่าวัตถุดวงนี้น่าจะตกลงสู่โลกภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า