สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ทฤษฎีใหม่ โอมูอามูอาเป็นเศษดาวหาง

ทฤษฎีใหม่ โอมูอามูอาเป็นเศษดาวหาง

8 ก.พ. 2562
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นับจากที่ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกเมื่อปลายปี 2560 โอมูอามูอาก็ตกเป็นที่สนใจของนักดาราศาสตร์มาโดยตลอด  นอกจากการที่เป็นวัตถุระบบสุริยะอื่นแล้ว ยังมีรูปร่างที่แปลกประหลาด ซึ่งไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ทำให้มีทฤษฎีแปลก ๆ ออกมามากมายที่อธิบายถึงที่มาของวัตถุดวงนี้ ตั้งแต่การเป็นดาวหาง เป็นดาวเคราะห์น้อย หรือแม้แต่เป็นยานอวกาศจากต่างดาว

ล่าสุดมีทฤษฎีใหม่ที่ฟังดูไม่หลุดโลกมากนักเกิดขึ้นมา โดย ดร. ซเดเนก เซคานีนา จากเจพีแอลของนาซา เขาเสนอว่า โอมูอามูอาจเป็นเศษของนิวเคลียสดาวหางที่ได้แตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยก่อนที่จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ 

โอมูอามูอา วัตถุรูปร่างประหลาดจากต่างดาว เข้ามาเยือนระบบสุริยะเมื่อปลายปี 2560 

เซคานีนา ทำงานอยู่ที่เจพีแอลมาเกือบ 40 ปี เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอุกกาบาต ดาวหาง และฝุ่นระหว่างดาว มีผลงานโดดเด่นจากการศึกษาดาวหางแฮลลีย์ เหตุการณ์ทังกัสกา และดาวหางชูเมกเกอร์-เลวี 9

โอมูอามูอาถูกค้นพบโดยโครงการแพนสตารรส์ (Panoramic Survey Telescope and Rapid Response System) เมื่อเดือนตุลาคม 2560 

ทฤษฎีของเซคานีนาอ้างอิงถึงงานวิจัยก่อนหน้านี้ของนักดาราศาสตร์ชื่อดังอีกคนหนึ่งคือ จอห์น อี. บอร์เทิล ซึ่งได้แสดงว่าดาวหางจางที่มีวงโคจรเกือบเป็นพาราโบลาที่เข้าเฉียดดวงอาทิตย์ใกล้กว่าหนึ่งหน่วยดาราศาสตร์มีโอกาสแตกสลายก่อนเข้าถึงจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดมากน้อยเพียงใด และยังอิงถึงงานวิจัยหลังจากนั้นอีกแหล่งที่แสดงว่าการแตกของดาวหางบางครั้งยังมีเศษที่มีขนาดใหญ่พอจะวัดขนาดหลงเหลืออยู่

โอมูอามูอา (ในวงกลม) ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์วิลเลียมเฮอร์เชล เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2560   (จาก Queen’s University Belfast/William Herschel Telescope)


เซคานีนากล่าวว่า เศษดาวหางที่แตกออกมานี้มีลักษณะเป็น ก้อนฝุ่นที่ปราศจากวัสดุสลายตัวง่ายที่จับตัวกันอย่างหลวม ๆ มีความพรุนอย่างมาก รวมถึงอาจมีรูปร่างพิลึกพิลั่นและหมุนรอบตัวเองในลักษณะแปลก ๆ ซึ่งก็ตรงกับลักษณะของโอมูอามูอาทุกอย่าง 
 
โอมูอามูอามีรูปร่างเป็นแท่งยาวเหมือนซิการ์ และเมื่อปีที่แล้ว เวสลีย์ ซี. เฟรเซอร์ พบว่าโอมูอามูอามีการหมุนที่มีคาบไม่คงที่ ซึ่งต่างจากวัตถุจำพวกดาวเคราะห์น้อยหรือดาวเคราะห์ก่อนเกิดทั่วไปที่มีคาบการหมุนคงที่ คณะของเฟรเวอร์สรุปว่าลักษณะเช่นนี้เป็นผลจากการชนในอดีต แต่เซคานีนามองว่า น่าจะเป็นผลของการแตกสลายของวัตถุดั้งเดิมมากกว่า 

นับจากที่โอมูอามูอาเข้ามาปรากฏให้เห็น นักวิทยาศาสตร์ต่างกะตือรือล้นที่จะศึกษาต้นกำเนิดของมัน รวมถึงรอคอยที่จะได้สำรวจวัตถุต่างด้าวดวงอื่นที่จะเข้ามาเยือนในอนาคต น่ายินดีที่โอกาสเช่นนั้นอาจไม่ได้น้อยอย่างที่คิด เพราะการวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่ามีวัตถุจากต่างดาวนับพันดวงที่เข้ามาในระบบสุริยะแล้วถูกดวงอาทิตย์คว้าจับเอาไว้เป็นบริวาร บางทีวัตถุในระบบสุริยะบางดวงที่เรารู้จักในปัจจุบันอาจมีที่มาจากต่างดาวแบบโอมูอามูอาก็เป็นได้