สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ผู้โดยสารคนแรกของเวอร์จินกาแล็กติกขึ้นสู่อวกาศ

ผู้โดยสารคนแรกของเวอร์จินกาแล็กติกขึ้นสู่อวกาศ

28 ก.พ. 2562
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยานวีเอสเอสยูนิตี ซึ่งเป็นยานในชั้นสเปซชิปทูของเวอร์จินกาแล็กติก ได้ขึ้นสู่อวกาศอีกครั้ง เที่ยวบินนี้มีความพิเศษตรงที่ในยานมิได้มีเพียงนักบินเท่านั้น แต่มีผู้โดยสารไปด้วย นับเป็นผู้โดยสารคนแรกของยานชนิดนี้

นักบินในเที่ยวบินนี้คือ เดฟ แมคเคย์ หัวหน้านักบิน ไมเคิล มัคซูชี ผู้ช่วยนักบิน ส่วนผู้โดยสารหนึ่งคนนั้นไม่ใช่ลูกค้าของเวอร์จินกาแล็กติก แต่เป็นคนของเวอร์จินกาแล็กติกเอง ชื่อ เบท โมเสส หัวหน้าผู้ฝึกสอนมนุษย์อวกาศของบริษัท

ภาพภายในห้องนักบินของยานวีเอสเอสยูนิตี คนที่ไม่สวมหมวกคือ เบท โมเสส ผู้โดยสารหนึ่งเดียวของเที่ยวบินนี้  (จาก Virgin Galactic)


ภาพถ่ายจากยานสเปซชิปทู เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 ขณะอยู่ที่ระดับความสูง 90 กิโลเมตร  (จาก Virgin Galactic/Twitter)


ยานวีเอสเอสยูนิตี เป็นยานอวกาศเพื่อการท่องเที่ยวของเวอร์จินกาแล็กติก การเดินทางสู่อวกาศของวีเอสเอสยูนิตีไม่ได้ขึ้นสู่ท้องฟ้าด้วยจรวดดังเช่นยานลำอื่น ยานจะติดไปกับเครื่องบินส่งสองลำตัวชื่อ ไวท์ไนท์ทู เครื่องจะบินขึ้นจากฐานที่ทะเลทรายโมฮาวีในแคลิฟอร์เนีย หลังจากขึ้นสู่ท้องฟ้าได้ราวหนึ่งชั่วโมง วีเอสเอสยูนิตีก็แยกตัวออกมาจากเครื่องบินส่งแล้วเดินเครื่องของตัวเองพุ่งดิ่งขึ้นสู่อวกาศ ระหว่างการบินในเที่ยวบินล่าสุดนี้ ยานวีเอสเอสยูนิตีทำความเร็วสูงสุดได้ถึงมัค 3.1 และทำเพดานบินสูงสุด 89.9 กิโลเมตร ซึ่งสูงกว่าการบินครั้งแรกเมื่อปลายปีที่แล้วถึง กิโลเมตร

โพรไฟล์การบินของสเปซชิปทู 

อย่างไรก็ตาม คำว่า "อวกาศ" ที่เวอร์จินกาแล็กติกอ้างอิงถึงนี้ เป็นการกล่าวโดยอ้างอิงกับระดับ 80 กิโลเมตรตามนิยามของกองทัพอากาศสหรัฐ แต่นิยามนี้ไม่ใช่นิยามที่ยอมรับใช้กันเป็นการสากล เส้นแบ่งของบรรยากาศกับอวกาศตามที่ยอมรับกันเป็นสากลคือ เส้นคาร์มัน (Kármán line) ซึ่งอยู่ที่ระดับความสูง 100 กิโลเมตร 

เที่ยวบินแตะขอบอวกาศของวีเอสเอสยูนิตีมีค่าตั๋วที่นั่งละ 250,000 ดอลลาร์ ในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ ริชาร์ด แบรนสัน ผู้ก่อตั้งบริษัทจะขึ้นไปเป็นผู้โดยสารเองด้วยเพื่อเป็นการรำลึกการครบรอบ 50 ปีของภารกิจอะพอลโล 11