สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ญาติโอมูอามูอาพุ่งเข้าใส่โลกเมื่อ 5 ปีก่อน

ญาติโอมูอามูอาพุ่งเข้าใส่โลกเมื่อ 5 ปีก่อน

28 เม.ย. 2562
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อปี 2560 นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบวัตถุรูปร่างประหลาดดวงหนึ่ง มีลักษณะเรียวยาวคล้ายซิการ์ และพบว่าเส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงนี้แสดงว่าไม่ได้โคจรรอบดวงอาทิตย์ หากแต่เดินทางมาจากนอกระบบสุริยะของเรา วัตถุดวงนั้นต่อมามีชื่อว่า โอมูอามูอา นับเป็นการค้นพบวัตถุจากต่างดาวที่เข้ามาเยือนเป็นครั้งแรก

การที่โอมูอามูอาเป็นวัตถุจากต่างดาวดวงแรกที่ค้นพบ ไม่ได้หมายความว่าเป็นดวงแรกที่เคยเข้ามา เพราะก่อนหน้านี้อาจเคยมีวัตถุจากต่างดาวเข้ามาเยือนระบบสุริยะของเรามาแล้วหลายดวง เพียงแต่เราตรวจไม่พบเท่านั้น 

ด้วยสมมุติฐานนี้ อะมีร สิราช และ อาวี โลบ นักวิจัยจากฮาร์วาร์ดจึงได้พยายามค้นหาวัตถุจากต่างแดนดวงอื่น แต่แทนที่จะกวาดกล้องขึ้นไปบนท้องฟ้าเพื่อหาร่องรอยของวัตถุแปลกปลอมที่ผ่านเข้ามา เขากลับมองไปยังวัตถุที่พุ่งเข้ามายังโลกแล้วลุกไหม้สว่างไสวไปในบรรยากาศ นั่นก็คือสืบเสาะจากดาวตกนั่นเอง  

วัตถุที่เป็นต้นกำเนิดดาวตกคือสะเก็ดดาว ซึ่งมีขนาดเล็ก จึงไม่มีโอกาสที่จะถูกตรวจพบได้จากระยะไกลอย่างโอมูอามูอา แต่วัตถุขนาดเล็กมีปริมาณมากกว่าวัตถุขนาดใหญ่โดยธรรมชาติอยู่แล้ว จึงเชื่อว่ามีโอกาสถูกพบได้ง่ายกว่า

การค้นหานี้ไม่ต้องเสียเวลาไปตั้งกล้องมองหาดาวตก  สิราชและโลบเลือกใช้วิธีค้นหาจากคลังข้อมูลดาวตกของศูนย์วัตถุใกล้โลกเพื่อการศึกษา (Center for NEO Studies--CNEOS) ซึ่งเป็นหน่วยงานขององค์การนาซา และพบว่า ดาวตกดวงหนึ่งที่ลุกสว่างขึ้นเหนือท้องฟ้าของปาปัวนิวกีนีเมื่อเดือนมกราคม 2557 มีความเร็วขณะผ่านดวงอาทิตย์สูงถึง 60 กิโลเมตรต่อวินาที

คาดว่าวัตถุต้นกำเนิดมีขนาดกว้างไม่ถึงหนึ่งเมตร จัดว่าเป็นสะเก็ดดาว ไม่ใหญ่ถึงขั้นเป็นดาวเคราะห์น้อย

และเมื่อคำนวณหาแนววิถีของสะเก็ดดาวก่อนที่จะพุ่งเข้าใส่โลก พบว่าวัตถุดวงนี้ไม่ได้โคจรรอบดวงอาทิตย์ นั่นหมายความว่า เป็นวัตถุที่มาจากนอกระบบสุริยะของเราเช่นเดียวกับโอมูอามูอานั่นเอง

"มีเหตุผลที่น่าเชื่อได้ว่าสะเก็ดดาวที่พุ่งเข้าใส่จนทำให้เกิดดาวตกในครั้งนั้นเป็นวัตถุที่มาจากอวกาศระหว่างดาว" คัต วอล์ก นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแอริโซนา ผู้ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยนี้กล่าวต่อเนชันนัลจีโอกราฟิก

เมื่อสะเก็ดดาวพุ่งเข้ามาในชั้นบรรยากาศ จะเกิดแสงสว่างเรืองขึ้นจากแก๊สร้อนที่คายออกมาจากสะเก็ดดาว การศึกษาสเปกตรัมของแสงนี้ทำให้ทราบถึงองค์ประกอบของสะเก็ดดาวนี้ได้ 

ตามการคำนวณของสิราชและโลบ ดาวตกที่จากวัตถุต่างดาวเช่นนี้น่าจะเกิดขึ้นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนตลอดประวัติศาสตร์ของโลกเรา ดังนั้นการเฝ้าสังเกตและศึกษาดาวตกก็เป็นช่องทางในการเรียนรู้วัตถุจากแดนไกลได้เช่นกัน