สมาคมดาราศาสตร์ไทย

จุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดีกำลังจะแหลกสลาย?

จุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดีกำลังจะแหลกสลาย?

21 พ.ค. 2562
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา วงการนักถ่ายภาพทางดาราศาสตร์เริ่มมีการเผยแพร่ภาพของจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดีที่มีรูปร่างแปลกตาไม่คุ้นเคย จุดแดงใหญ่ที่เคยเป็นวงรีสีแสดเริ่มปรากฏสิ่งที่ดูเหมือนเปลือกนอกค่อย ๆ หลุดล่อนออกมา ราวกับว่าจุดแดงใหญ่นี้กำลังจะสลายไป

"ผมถ่ายภาพดาวพฤหัสบดีมา 17 ปีแล้ว ไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้" แอนโทนี เวสลีย์ นักถ่ายภาพรุ่นเก๋าชาวออสเตรเลียกล่าว 

 (จาก Gemini Observatory/AURA/NSF/JPL-Caltech/NASA)

สิ่งที่ดูเหมือนเปลือกนั้นคือสายของแก๊สที่ดูเหมือนกำลังดึงแก๊สออกไป มีขนาดมหึมา พาดยาวตั้งแต่จุดแดงยักษ์ไปจนถึงสายธารข้างเคียงเป็นระยะทางมากกว่า 10,000 กิโลเมตร 

จุดแดงยักษ์ เป็นพายุหมุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ มีนาดใหญ่กว่าโลกทั้งใบ มีความเร็วลมถึง 560 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นักดาราศาสตร์ได้เฝ้าสังเกตพายุนี้มาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ที่ผ่านมานักดาราศาสตร์พบความเปลี่ยนแปลงของพายุหมุนนี้อย่างเห็นได้ชัด โดยพบว่ามีขนาดหดเล็กลงอย่างมาก จากเดิมที่เคยใหญ่ถึงขนาดที่ใส่โลกเข้าไปได้สามใบ แต่ปัจจุบันจุดแดงยักษ์มีขนาดใหญ่กว่าโลกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์บางคนถึงกับตั้งข้อสงสัยว่าบางทีจุดแดงยักษ์อาจกำลังสลายตัวและหายไปภายในช่วงชีวิตของเราก็ได้ ปรากฏการณ์ที่มีสายแก๊สหลุดออกจากพายุที่กำลังเกิดขึ้นอาจเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการดังกล่าว

ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่นัก ก่อนหน้านี้เดือนพฤษภาคม 2560 กล้องโทรทรรศน์เจมิไนเหนือเคยถ่ายภาพเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้มาแล้ว แต่ในครั้งนั้นสายแก๊สที่ปรากฏไม่ใหญ่เท่าที่เกิดในช่วงนี้

 (จาก Anthony Wesley)

เกลนน์ ออร์ตัน จากเจพีแอลของนาซาอธิบายว่า สายแก๊สที่ฉีกออกมาจะค่อย ๆ หลุดออกจากตัวจุดแดงใหญ่ ก่อนที่จะสลายไป อีกราวหนึ่งสัปดาห์ต่อมา ก็จะเกิดสายแก๊สเส้นใหม่ แล้วก็หลุดสลายไป ครั้งแล้วครั้งเล่า การสังเกตปรากฏการณ์นี้ไม่ง่ายนัก เพราะดาวพฤหัสบดีหมุนรอบตัวเองเร็วมากเพียงรอบละ 10 ชั่วโมงเท่านั้น จุดแดงยักษ์จึงไม่ได้ปรากฏให้เห็นตลอด

สำหรับนักถ่ายภาพดวงดาวที่ต้องการบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าว ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เหมาะในการสังเกตดาวพฤหัสบดีที่สุด เพราะดาวพฤหัสบดีจะอยู่ที่ตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในเดือนมิถุนายนปีนี้ เป็นช่วงที่ดาวพฤหัสบดีจะอยู่ใกล้โลกที่สุด สว่างที่สุด ในช่วงเวลาดังกล่าวดาวพฤหัสบดีจะสว่างกว่าดาวซิริอัสซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้าตอนกลางคืนถึงสี่เท่า แม้แต่กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก ก็มองเห็นแถบเมฆ จุดแดงยักษ์ และดวงจันทร์บริวารได้อย่างไม่ยากเย็น

ที่มา: