สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดวงอาทิตย์ก็อาจเกิดซูเปอร์แฟลร์ได้

ดวงอาทิตย์ก็อาจเกิดซูเปอร์แฟลร์ได้

27 มิ.ย. 2562
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
บนดวงอาทิตย์ มีการปะทุชนิดหนึ่งที่แผ่พลังงานร้อนแรงออกมาอยู่เสมอ เรียกว่าการลุกจ้า หรือ แฟลร์ แต่พลังงานจากการลุกจ้าที่พบบนดวงอาทิตย์นี้อาจเทียบไม่ได้กับการลุกจ้าที่พบในดาวฤกษ์บางดวง 

ในปี 2552 กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ขึ้นสู่ท้องฟ้าโดยมีภารกิจค้นหาดาวเคราะห์ต่างระบบที่คล้ายโลก สิ่งที่กล้องเคปเลอร์พบไม่ได้มีเพียงดาวเคราะห์เท่านั้น แต่ยังพบการปะทุรุนแรงจากดาวฤกษ์ดวงอื่นที่ทำให้ดาวทั้งดวงสว่างขึ้นอย่างฉับพลัน เป็นการปะทุคล้ายกับการลุกจ้าบนโลก แต่รุนแรงมากกว่านับร้อยนับพันเท่าจนมองเห็นได้ไกลจากระยะหลายร้อยปีแสง 

นักดาราศาสตร์เรียกการประทุดังกล่าวว่า ซูเปอร์แฟลร์


สาเหตุของการเกิดซูเปอร์แฟลร์ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด เดิมนักดาราศาสตร์เชื่อกันว่า ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในดาวฤกษ์อายุน้อย ๆ เท่านั้น ส่วนดวงอาทิตย์ของเรามีอายุมากแล้ว จึงไม่มีโอกาสเกิดปรากฏการณ์ซูเปอร์แฟลร์ จึงไม่มีเหตุต้องกังวล

แต่กังวลเสียหน่อยก็ดีเหมือนกัน เพราะนักวิจัยคณะหนึ่งที่นำโดย ยุตะ โนะสึ นักวิจัยจากห้องทดลองบรรยากาศและฟิสิกส์อวกาศของมหาวิทยาลัยโคโลราโดโบลเดอร์ พบว่าซูเปอร์แฟลร์ก็มีโอกาสเกิดขึ้นในดาวฤกษ์ที่มีอายุไล่เลี่ยกับดวงอาทิตย์ได้เหมือนกัน แม้โอกาสและความถี่จะน้อยนิดก็ตาม

คณะของโนะสึได้ศึกษาจากข้อมูลจากยานกายยาขององค์การอีซาและจากหอดูดาวอาปาเชพอยต์ในนิวเมกซิโก พบว่ามีซูเปอร์แฟลร์ 43 ครั้งที่เกิดขึ้นบนดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ 

ดังนั้นปัญหาตอนนี้ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ได้หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าจะเกิดขึ้นอีกทีเมื่อไหร่ ซึ่งก็ไม่มีใครบอกได้ 

อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์ยังคงเชื่อว่าช่วงวัยของดาวฤกษ์ก็มีส่วนสำคัญ ดาวฤกษ์อายุน้อยอาจเกิดซูเปอร์แฟลร์ได้ประมาณสัปดาห์ละครั้ง ส่วนดาวฤกษ์อย่างดวงอาทิตย์มีโอกาสเกิดครั้งหนึ่งในรอบหลายพันปี 

หากดวงอาทิตย์เกิดซูเปอร์แฟลร์จริง ก็มีโอกาสที่ทิศทางของรังสีนั้นจะพุ่งมายังโลก อานุภาพการทำลายอาจรุนแรงถึงขั้นรบกวนการทำงานของเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง และรบกวนการสื่อสารผ่านดาวเทียม

"ถ้ามันเกิดขึ้นสักพันปีก่อน ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ก็แค่มีแสงเหนือแสงใต้ชุดใหญ่ให้ชมอย่างตระการตาเท่านั้นเอง แต่หากเกิดในปัจจุบันก็มีปัญหาแน่ เพราะการปะทุจะรบกวนระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างมากทั่วทั้งโลก จึงต้องมีการเตรียมตัวที่ดี" โนะสึอธิบาย

ผลการวิจัยนี้ในที่ประชุมสมาคมดาราศาสตร์อเมริกันครั้งที่ 234 ในเซนต์ลุย

ที่มา: