สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวเคราะห์น้อยที่ทำให้เกิดระเบิดตุงกุสคายังอยู่

ดาวเคราะห์น้อยที่ทำให้เกิดระเบิดตุงกุสคายังอยู่

3 มิ.ย. 2563
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อเช้าวันหนึ่งในฤดูร้อนของปี พ.ศ. 2451 ได้เกิดลูกไฟสว่างวาบขึ้นที่ทางตอนเหนือของไซบีเรียใกล้แม่น้ำตุงกุสคา ตามมาด้วยเสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหว การระเบิดครั้งนั้นรุนแรงเทียบเท่าระเบิดทีเอ็นทีขนาด เมกะตัน ทำให้พื้นที่ป่ากว่า 2,000 ตารางกิโลเมตรบริเวณนั้นราบเป็นหน้ากลอง 

เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อเหตุการณ์ตุงกุสคา นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า การระเบิดนั้นเกิดจากดาวเคราะห์น้อยขนาดประมาณ 70 เมตรพุ่งใส่โลกแล้วระเบิดกลางอากาศ ทำนองเดียวกับเหตุการณ์เชลยาบินสก์ในปี 2556 

การที่วัตถุที่พุ่งเข้ามาระเบิดกลางอากาศ จึงไม่ทิ้งหลุมอุกกาบาตไว้บนพื้นโลก แต่อย่างน้อยก็ควรพบชิ้นส่วนของดาวเคราะห์น้อยระเบิดออกบนพื้นบ้าง กรณีเหตุการณ์เชลยาบินสก์ นักสำรวจพบชิ้นส่วนของดาวเคราะห์น้อยภายในไม่กี่วันหลังการระเบิด แต่สำหรับเหตุการณ์ตุงกุสคา ไม่มีการพบชิ้นส่วนของวัตถุที่พุ่งชนเลย ด้วยเหตุนี้ทฤษฎีดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนจึงยังไม่อาจยืนยันได้

จุดที่เกิดการระเบิดตุงกุสคา 

ความท้าทายในการศึกษาเหตุการณ์นี้คือความที่อยู่ห่างไกลทุรกันดาร บริเวณนั้นเป็นป่าที่มีผู้คนอาศัยอยู่น้อยมาก จึงมีพยานพบเห็นเหตุการณ์น้อย กว่าที่การสำรวจทางวิทยาศาสตร์ในพื้นที่จะเริ่มขึ้นก็ล่วงไปถึงทศวรรษ 1920 แล้ว 

กองต้นไม้ที่ล้มไปในทางเดียวกันใกล้จุดที่เกิดการระเบิดตุงกุสคา ถ่ายโดยลีโอนิด คูลิก ในปี ค.ศ. 1929 (จาก Leonid Kulik expedition, public domain)

การที่หลักฐานไม่อาจชี้ขาดได้ว่าการระเบิดที่ตุงกุสคาเกิดจากดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนจริง บางคนจึงเริ่มมองไปที่สาเหตุอื่น เช่นอาจมาจากแก๊สธรรมชาติรั่วออกมาขนานใหญ่แล้วระเบิดขึ้น บ้างก็คิดไปถึงว่าเกิดจากยานอวกาศจากต่างดาวระเบิด 

ดานีอิล เฮรนนิคอฟ จากมหาวิทยาลัยสหพันธรัฐไซบีเรีย ก็มีทฤษฎีของตัวเองเช่นกัน เขาเสนอว่า การระเบิดเกิดจากดาวเคราะห์น้อยจริง แต่เหตุที่ไม่พบชิ้นส่วนดาวเคราะห์น้อยเลย ก็เพราะมันไม่แตกออก ไม่ชนพื้นโลก แต่แฉลบบรรยากาศโลกออกไป

ลูกไฟกลางวันสีน้ำเงิน ถ่ายในปี 2515 (จาก James M. Baker)

สะเก็ดดาวหรือดาวเคราะห์น้อยแฉลบบรรยากาศโลกเป็นเรื่องเป็นไปได้ และเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ครั้งที่มีชื่อที่สุดถูกบันทึกได้ในปี 2515 พบเห็นได้ในรัฐยูทาห์และไวโอมิง มีชื่อว่า ลูกไฟกลางวันสีเขียว เกิดจากดาวเคราะห์น้อยดวงเท่ารถบรรทุกพุ่งเฉือนเข้ามาในบรรยากาศโลกแล้วแฉลบออกไป 

เฮรนนิคอฟและคณะได้สร้างแบบจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ขึ้นมาหลายสถานการณ์ สร้างดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดตั้งแต่ 50 200 เมตร มีองค์ประกอบต่างกันไปตั้งแต่น้ำแข็ง หิน และเหล็ก พบว่ากรณีที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือ ดาวเคราะห์น้อยเหล็กขนาด 200 เมตร พุ่งเฉือนเข้ามาในบรรยากาศโลกจนอยู่เหนือพื้นดินราว 10 กิโลเมตร ก่อนจะผ่านเลยไปและออกจากบรรยากาศโลกไปโคจรรอบดวงอาทิตย์ไป และเป็นไปได้ว่าปัจจุบันก็ยังคงโคจรรอบดวงอาทิตย์อยู่ การพุ่งใส่บรรยากาศด้วยความเร็วสูงทำให้เกิดแรงอัดอากาศเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและมีความรุนแรงมากพอที่จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ตุงกุสคา

อย่างไรก็ตาม แม้การศึกษานี้จะแสดงว่าทฤษฎีดาวเคราะห์แฉลบมีเหตุผลเป็นไปได้ แต่ก็เป็นอีกหนึ่งทฤษฎีที่ไม่อาจพิสูจน์ได้เช่นกัน