สมาคมดาราศาสตร์ไทย

อีซาส่งยานสำรวจมุ่งหน้าสู่ดาวอังคาร

อีซาส่งยานสำรวจมุ่งหน้าสู่ดาวอังคาร

12 เม.ย. 2559
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา จรวดโปรตอนได้ทะยานขึ้นจากศูนย์การบินอวกาศไบโคนอร์ สิ่งที่จรวดลำนี้พาขึ้นไปคือ ยานเอกโซมาร์สเทรซแก๊สออร์บิเตอร์ ยานสำรวจดาวอังคารขององค์การอวกาศยุโรปหรือองค์การอีซา 

การเดินทางไปดาวอังคารต้องอาศัยจังหวะที่เหมาะสม ต้องออกเดินทางในช่วงที่ทั้งโลกและดาวอังคารอยู่ในตำแหน่งสัมพัทธ์ที่ทำให้การเดินทางใช้เชื้อเพลิงน้อยที่สุด โอกาสเช่นว่านี้เกิดขึ้นเพียงหนึ่งครั้งต่อสองปี การปล่อยยานไปสำรวจดาวอังคารจึงเหมือนเกิดขึ้นเป็นเทศกาลประจำสองปี ช่วงเวลาปล่อยจรวดสำหรับยานเอกโซมารส์คือช่วงวันที่ 14-25 มีนาคม 

ทางฝั่งองค์การนาซาของสหรัฐอเมริกาก็มีโครงการปล่อยยานสำรวจดาวอังคารในช่วงเวลาทองนี้เช่นกัน มีชื่อว่ายานอินไซต์ แต่ยานได้ประสบปัญหาทางเทคนิคบางอย่าง ทำให้ต้องเลื่อนการปล่อยออกไปเป็นรอบถัดไป นั่นคือเดือนพฤษภาคม 2561 

ยานเอกโซมาร์สจะสำรวจดาวอังคารทั้งจากภาคพื้นดินและจากวงโคจร  ยานลงจอดมีชื่อว่า สกียาปาเรลลี (Schiaparelli) ยานลูกนี้จะแยกออกจากยานหลักในวันที่ 16 ตุลาคม ซึ่งจะเกิดขึ้นก่อนที่ยานจะเข้าสู่วงโคจรรอบดาวอังคารสี่วัน 
หลังจากออกจากยานหลักได้สามวัน ยานสกียาปาเรลลีก็จะลงจอดบนพื้นดาวอังคารตรงที่ราบเมอริเดียน (Meridiani Planum) ซึ่งเป็นบริเวณเดียวกับที่ยานออปพอร์ทูนิตีของนาซากำลังสำรวจอยู่

ชื่อ สกียาปาเรลลี ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ โจวันนี สกียาปาเรลลี ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์และนักสำรวจดาวอังคารในยุคศตวรรษที่ 19 

ยานสกียาปาเรลลีใช้พลังงานจากแบตเตอรี จึงจะไม่ได้อยู่ทนทานนานหลายปีแบบออปพอร์ทูนิตี คาดว่ายานจะปฏิบัติภารกิจได้เพียงสี่วันดาวอังคารเท่านั้น หากการลงจอดประสบผลสำเร็จ องค์การอีซาก็จะเป็นองค์การอวกาศที่สามที่ส่งยานลงจอดบนดาวอังคารได้สำเร็จ ถัดจากองค์การนาซาและสหภาพโซเวียต

ก่อนหน้านี้ในปี 2546 องค์การอีซาเคยปล่อยยานสำรวจไปลงจอดบนดาวอังคารลำหนึ่งชื่อว่า บีเกิล การลงจอดในครั้งนั้นเป็นไปด้วยดี แต่แผงเซลสุริยะกลับกางไม่สมบูรณ์ ภารกิจจึงประสบความล้มเหลว

ตามแผนที่วางไว้ หลังจากที่ยานสกียาปาเรลลีลงจอดบนดาวอังคารแล้ว ยานส่วนโคจรจะใช้เวลาปรับวงโคจรอีกหลายรอบ จนกระทั่งปลายปี 2560 จึงจะพร้อมปฏิบัติภารกิจการสำรวจได้ 

นอกจากจะสำรวจดาวอังคารจากวงโคจรแล้ว อีซายังวางแผนให้ยานโคจรเอกโซมาร์สทำหน้าที่เป็นสถานีถ่ายทอดสัญญาณระหว่างโลกกับยานเอกโซมาร์ส 2018 ซึ่งจะส่งขึ้นไปในอีกสองปีข้างหน้าอีกด้วย ทั้งนี้ยานโคจรเอกโซมาร์สมีอายุภารกิจนานถึงปี 2565

ส่วนบนผิวดาวอังคาร ยานสกียาปาเรลลีจะใช้ยานอุปกรณ์ชุดที่มีชื่อว่า ดรีมส์ (DREAMS--Dust Characterization,Risk Assessment, and Environment Analizer on the Martian Surface) ในการเฝ้าดูสภาพแวดล้อมภาคพื้นดิน 

เอกโซมาร์สเทรซแก๊สออร์บิเตอร์เป็นภารกิจร่วมระหว่างอีซากับองค์การอวกาศรัสเซียหรือรอสคอสมอส เป้าหมายหลักของภารกิจนี้คือ การค้นหาและตามรอยแก๊สในบรรยากาศของดาวอังคาร ปริศนาข้อหนึ่งเกี่ยวกับดาวอังคารคือ แหล่งที่มาของแก๊สมีเทนในบรรยากาศดาวอังคาร แก๊สมีเทนอาจเกิดขึ้นจากภูเขาไฟที่เพิ่งปะทุไปไม่นาน หรืออาจเกิดจากกระบวนการทางชีววิทยา นอกจากนี้เอกโซมาร์สยังมีภารกิจทดสอบเทคโนโลยีสำคัญบางอย่างที่จะใช้ในรถสำรวจดาวอังคารในปี 2561 อีกด้วย

ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์นอกจากโลกที่มียานสำรวจไปเยือนมากที่สุด โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ นอกจากยานเอกโซมาร์สแก๊สออร์บิเตอร์แล้ว ยังมียานอื่นที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ดาวอังคารอีกถึง ลำ ได้แก่ มาร์สโอดิสซีย์ มาร์สเอกซ์เพรส มาร์สริคอนเนสเซนส์ออร์บิเตอร์ มาร์เวน และมาร์สออร์บิเตอร์หรือมงคลยานจากอินเดีย
ภาพยานสกียาปาเรลลีขณะกำลังจะแยกออกจากส่วนโคจรของยานเอกโซมาร์สเทรซแก๊สออร์บิเตอร์ตามจินตนาการของศิลปิน <wbr> <wbr><br />

ภาพยานสกียาปาเรลลีขณะกำลังจะแยกออกจากส่วนโคจรของยานเอกโซมาร์สเทรซแก๊สออร์บิเตอร์ตามจินตนาการของศิลปิน  
(จาก ESA / D. Ducros)

ยานเอกโซมาร์สเทรซแก๊สออร์บิเตอร์และยานสกียาปาเรลลีขณะอยู่ในห้องปลอดเชื้อบนโลก

ยานเอกโซมาร์สเทรซแก๊สออร์บิเตอร์และยานสกียาปาเรลลีขณะอยู่ในห้องปลอดเชื้อบนโลก (จาก ESA-S. Corvaja)

ลำดับขั้นตอนการลงสู่พื้นผิวของยานสกียาปาเรลลี

ลำดับขั้นตอนการลงสู่พื้นผิวของยานสกียาปาเรลลี (จาก ESA/ATG Medialab)

ที่มา: