สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เดือนหน้าโลกมีบริวารเพิ่ม

เดือนหน้าโลกมีบริวารเพิ่ม

30 ก.ย. 2563
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
โลกเรามีดวงจันทร์เป็นบริวารซึ่งโคจรรอบโลกมาเป็นเวลาหลายพันล้านปีแล้ว แต่โลกเราไม่ได้มีบริวารดวงเดียวเสมอไป บางครั้งเมื่อมีดาวเคราะห์น้อยผ่านเข้ามาใกล้ก็อาจถูกความโน้มถ่วงของโลกคว้าเอามาโคจรรอบตัวเองได้เหมือนกัน แต่บริวารจำพวกนี้มีวงโคจรไม่เสถียร โคจรรอบโลกอยู่เป็นเวลาไม่นานก็หลุดจากพันธนาการไป จึงไม่นับเป็นบริวารที่แท้จริง 

ภาพถ่ายโลกและดวงจันทร์ ถ่ายโดยลูกเรือในภารกิจอะพอลโล 11 (จาก NASA/JSC)

จนถึงปัจจุบันมีวัตถุกึ่งบริวารของโลกที่พบและยืนยันแล้วเพียงสองดวง ได้แก่ 2006 อาร์เอช 120 เป็นบริวารในช่วงปี 2549-2550 และ 2020 ซีดี เป็นบริวารในช่วงปี 2561-2563

ล่าสุดนักดาราศาสตร์ตรวจพบวัตถุอีกดวงหนึ่ง ชื่อว่า 2020 เอสโอ การสังเกตแนววิถีพบว่าวัตถุดวงนี้จะเข้ามาโคจรรอบโลกเป็นบริวารชั่วคราวในเดือนตุลาคม 2563 หรืออีกไม่กี่วันข้างหน้านี้เอง และจะหลุดออกจากวงโคจรโลกไปในเดือนพฤษภาคมปีหน้า

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับว่าที่บริวารดวงนี้ก็คือ มันอาจไม่ใช่ดาวเคราะห์น้อย 

เดิม 2020 เอสโอ ได้รับการจัดประเภทว่าเป็นดาวเคราะห์น้อยกลุ่มอะพอลโล  ซึ่งเป็นกลุ่มดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรตัดกับวงโคจรโลก เป็นกลุ่มดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกที่ต้องจับตาระมัดระวังกลุ่มหนึ่ง แต่สำหรับ 2020 เอสโอ กลับแสดงสมบัติบางอย่างที่แตกต่างออกไป

วัตถุดวงนี้มีระนาบวงโคจรทับวงโคจรโลกพอดี มีวงโคจรรีกว่าวงโคจรโลกเพียงเล็กน้อย ซ้ำยังมีความเร็วต่ำกว่าดาวเคราะห์น้อยในกลุ่มอะพอลโลทั่วไปมาก แม้แต่วัตถุที่อาจปลิวมาจากดวงจันทร์ซึ่งปกติมีความเร็วช้ากว่าดาวเคราะห์น้อยทั่วไปก็ยังเร็วกว่าวัตถุดวงนี้

พอล โชดัส จากเจพีแอล สันนิษฐานว่าวัตถุดวงนี้น่าจะเป็นชิ้นส่วนของจรวดเซนทอร์ที่ถูกทิ้งไว้ในวงโคจรระหว่างนำยานเซอร์เวเยอร์ ไปดวงจันทร์เมื่อเดือนกันยายน 2510 

ขนาดของ 2020 เอสโอที่ประเมินไว้คือ 6.4 14 เมตร ซึ่งก็ใกล้เคียงกับขนาดชิ้นส่วนของจรวดเซนทอร์ที่ทิ้งไว้ (12.68 เมตร) 

ระหว่างการเป็นบริวารชั่วคราวของโลก 2020 เอสโอ จะเข้าใกล้โลกสองครั้ง ครั้งแรกในวันที่ ธันวาคม 2563 ด้วยระยะ 50,000 กิโลเมตร และอีกครั้งในวันที่ กุมภาพันธ์ 2564 ด้วยระยะ 220,000 กิโลเมตร

การเข้าใกล้สองครั้งนี้ไม่เป็นอันตรายต่อโลกแต่อย่างใด แต่จะเป็นโอกาสอันดีที่จะให้นักดาราศาสตร์ได้ศึกษาวัตถุดวงนี้ ได้พิสูจน์ว่าเป็นชิ้นส่วนจรวดที่ทิ้งไว้จริงหรือไม่ ระยะที่ใกล้บวกกับความเร็วต่ำ อาจทำให้นักดาราศาสตร์ได้ทราบรูปร่าง การศึกษาสเปกตรัมอาจบอกได้ว่าเป็นวัตถุที่ถูกทาสีไว้หรือไม่ และอาจทราบถึงสภาพพื้นผิวว่าขรุขระผุพังไปมากเพียงใดจากการอาบรังสีและรับจุลอุกกาบาตอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานถึง 54 ปี ซึ่งการศึกษาเหล่านี้จะช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจถึงสภาพแวดล้อมนอกโลกได้ดียิ่งขึ้น

แต่ถ้าหากพบว่ามันไม่ใช่ชิ้นส่วนจรวดแต่เป็นก้อนหินจริง นั่นจะแปลว่าเราได้พบดาวเคราะห์น้อยที่แปลกประหลาดมาก ๆ เข้าเสียแล้ว