สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวหางใหม่ มันใหญ่มาก

ดาวหางใหม่ มันใหญ่มาก

26 มิ.ย. 2564
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ใช่ มันใหญ่มาก และกำลังมุ่งหน้าเข้ามา

ใจเย็น ๆ อย่าเพิ่งแตกตื่น มันจะไม่ชนโลก

ดาวหางดวงนี้มีชื่อว่า 2014 ยูเอ็น 271 (เบอร์นาร์ดิเนลลี-เบิร์นสไตน์)  [2014 UN271 (Bernardinelli-Bernstein)] ค้นพบโดยโครงการดาร์กเอเนอร์จีเซอร์เวย์ ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ที่มีกล้องโทรทรรศน์สำหรับตรวจวัตถุทั่วฟ้าโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดอัตราการขยายตัวของเอกภพ วัตถุเป้าหมายของโครงการนี้ก็คือวัตถุที่อยู่ห่างไกลมาก ๆ เช่นดาราจักร ซูเปอร์โนวา แต่บางครั้งหากมีวัตถุในระบบสุริยะอยู่ในกรอบภาพ ก็ย่อมจะได้ภาพของวัตถุนั้นมาด้วย ภาพแรกที่โครงการนี้บันทึกภาพของ 2014 ยูเอ็น 271 ได้ ถ่ายได้ในปี 2557 (ค.ศ. 2014) จึงมีชื่อขึ้นต้นด้วย 2014 แม้จะเพิ่งมีการเปิดเผยการค้นพบเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาก็ตาม

ในแต่ละปีมีการค้นพบดาวหางดวงใหม่อยู่เสมอ แต่สำหรับดวงนี้มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ ความพิเศษประการหนึ่งก็คือ 2014 ยูเอ็น 271 มีวงโคจรรีมาก มีคาบโคจรนานถึงสามล้านปี จุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวงโคจรมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ 1.6 พันล้านกิโลเมตรหรือเข้ามาเกือบถึงวงโคจรของดาวเสาร์ ส่วนจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดอยู่ห่างออกไปถึง ล้านล้านกิโลเมตร นั่นคือมีจุดไกลสุดจมอยู่ในเมฆออร์ตเลยทีเดียว

เมฆออร์ตเป็นบริเวณทรงกลมที่ห่อหุ้มระบบสุริยะไว้โดยรอบ มีรัศมีตั้งแต่ 1,000 100,000 หน่วยดาราศาสตร์ (ระยะทาง หน่วยดาราศาสตร์เท่ากับระยะห่างระหว่างโลกถึงดวงอาทิตย์ มีค่าประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร) เป็นดงของวัตถุที่เป็นต้นกำเนิดของดาวหางนับล้านดวง บางคนถึงกับเรียกเมฆอออร์ตว่า ดงดาวหางออร์ต 

ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ ขนาด หากยังจำดาวหางเฮล-บอปป์ที่มาอวดโฉมแก่ชาวโลกเมื่อ 20 กว่าปีก่อนกันได้ ดาวหางเฮล-บอปป์เป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดดวงหนึ่งเท่าที่คนในปัจจุบันเคยเห็น มีนิวเคลียสกว้างถึง 50 กิโลเมตร ส่วนดาวหางที่ใหญ่ที่สุดที่มนุษย์เคยพบเห็นปรากฏขึ้นเมื่อสามศตวรรษก่อน มีชื่อว่า ดาวหางยักษ์แห่งปี 1729 หรือ (ซี/1729 พี1) มีขนาดใหญ่ถึง 100 กิโลเมตร แต่สำหรับดาวหาง 2014 ยูเอ็น 271 คาดว่ามีขนาดกว้างถึง 160 200 กิโลเมตร!

ภาพในจินตนาการของศิลปิน แสดงวัตถุไคเปอร์ที่อยู่ไกลพ้นวงโคจรของดาวเนปจูนออกไป  (จาก ASA/ESA/G. Bacon (STScI))


แผนภูมิวงโคจรและตำแหน่งปัจจุบันของดาวหาง 2014 ยูเอ็น 271 (2014 UN271) วงโคจรของดาวหางดวงนี้เอียงทำมุม 90 องศากับระนาบวงโคจรของดาวเคราะห์ มีจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ใกล้เคียงกับรัศมีวงโคจรของดาวเสาร์
 (จาก NASA/JPL-Caltech)


2014 ยูเอ็น 271 จัดเป็นวัตถุประเภท วัตถุพ้นดาวเนปจูน (Trans-Neptunian Object) หรือ ทีเอ็นโอ วัตถุในกลุ่มนี้โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยรัศมีเฉลี่ยกว้างกว่าวงโคจรของดาวเนปจูน วัตถุในกลุ่มนี้มีรูปร่าง ขนาด และวงโคจรได้หลากหลายมาก บางดวงใหญ่ได้ถึงหลายร้อยกิโลเมตรหรือแม้แต่นับพันกิโลเมตร วัตถุพ้นดาวเนปจูนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดก็คือ ดาวพลูโต มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2,400 กิโลเมตร 

แผนภูมิวงโคจรของดาวหาง 2014 ยูเอ็น 271 ในมุมกว้าง เปรียบเทียบกับวงโคจรของดาวเนปจูน แสดงถึงวงโคจรที่รีมากของดาวหางดวงนี้ ตำแหน่งของดาวหางแสดงตำแหน่ง ณ พ.ศ. 2743
 (จาก NASA/JPL-Caltech)


ขณะนี้ ดาวหาง 2014 ยูเอ็น 271 อยู่ห่างจากโลกราว พันล้านกิโลเมตร (ประมาณระยะของดาวเนปจูน) กำลังมุ่งหน้าเข้ามาตามวงโคจร จะมาถึงจุดใกล้สุดดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 23 มกราคม 2574 ในวันนั้นจะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 10.95 หน่วยดาราศาสตร์  หลังจากนั้นก็จะวกกลับไปด้วยวงโคจรที่ยาวกว่าเดิมด้วยจุดไกลสุดในเมฆออร์ตอีกครั้งที่ระยะ 55,000 หน่วยดาราศาสตร์ 

ขนาดของดาวหางที่ประเมินไว้นี้ เป็นการประเมินจากความสว่างที่วัดได้ โดยสมมุติว่าวัตถุดวงนี้มีอัตราสะท้อนแสงราว เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของวัตถุพ้นดาวเนปจูนทั่วไป อย่างไรก็ตาม ขนาดจริงอาจต่างไปจากนี้ได้มาก หากพื้นผิวของวัตถุนี้สะท้อนแสงได้ดี ขนาดจริงก็จะเล็กกว่านี้ หรือหากพื้นผิวของวัตถุนี้สะท้อนแสงไม่ดีหรือมืดคล้ำมาก ขนาดจริงก็จะใหญ่กว่านี้ 

องค์ประกอบของวัตถุนี้ก็ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ก็พอสันนิษฐานได้ว่าน่าจะคล้ายคลึงกับวัตถุพ้นดาวเนปจูนทั่วไป นั่นคือเป็นหินปนน้ำแข็งเป็นหลัก อาจมีคาร์บอนไดออกไซด์แข็ง มีเทนแข็ง ไนโตรเจนแข็ง ปะปนอยู่ด้วย 

ในด้านสัญฐาน แม้จะมีขนาดใหญ่ถึง 200 กิโลเมตร แต่ก็ยังไม่ใหญ่พอที่จะทำให้ความโน้มถ่วงของตัวเองปรับรูปร่างให้มีสัญฐานกลมได้ (วัตถุที่เล็กที่สุดในระบบสุริยะที่มีสัญฐานกลมคือดวงจันทร์ไมมัสของดาวเสาร์ มีขนาด 400 กิโลเมตร) ดังนั้นนิวเคลียสของดาวหางดวงนี้จึงน่าจะมีรูปร่างบิดเบี้ยวเหมือนดาวเคราะห์น้อยทั่วไปมากกว่า

เปรียบเทียบขนาดของวัตถุทรงกลมในระบบสุริยะที่มีขนาดต่ำกว่า 10,000 กิโลเมตร   (จาก Emily Lakdawalla; data from NASA JPL, JHUAPL/SwRI, SSI, and UCLA MPS DLR IDA, processed by Gordan Ugarkovic, Ted Stryk, Bjorn Jonsson, Roman Tkachenko, and Emily Lakdawalla.)


จะสว่างแค่ไหน? การที่จุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดของดาวหางดวงนี้อยู่ไกลมาก จึงยากจะคาดเดาว่าดาวหางดวงนี้จะคายแก๊สได้มากหรือไม่ อัตราคายแก๊สของดาวหางเป็นปัจจัยสำคัญที่จะชี้ว่าดาวหางดวงนั้นจะสว่างโชติช่วงมากน้อยเพียงใด หากไม่มีการคายแก๊ส แม้จะอยู่ที่จุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดก็ยังมีอันดับความสว่างอยู่ที่ 18 ซึ่งตาเปล่ามองไม่เห็น แต่หากมีการคายแก๊สมาก ความสว่างก็จะเพิ่มขึ้นอย่างมากจนอาจมองเห็นได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 22 ที่ผ่านมา กล้องโทรทรรศน์ทางไกลสกายเจ็มส์ซึ่งมีขนาด 0.51 เมตรที่ตั้งอยู่ในประเทศนามิเบีย ได้ตรวจพบว่าดาวหางดวงนี้เริ่มคายแก๊สแล้ว วัดขนาดของโคม่าได้ 15 พิลิปดา นั่นน่าจะถือได้ว่าคราวนี้มีลุ้น

แหล่งกำเนิดดาวหางสองแหล่งหลักในระบบสุริยะ ซ้ายคือแถบไคเปอร์ อยู่พ้นจากวงโคจรของดาวเนปจูนเล็กน้อย เป็นต้นกำเนิดของดาวหางคาบสั้น ทางขวาคือเมฆออร์ต เป็นต้นกำเนิดของดาวหางคาบยาว  (จาก ESA)


แม้ข้อมูลเกี่ยวกับดาวหางดวงนี้ยังมีความไม่ชัดเจนอยู่มาก แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ในขณะนี้ก็คือ  มันใหญ่จริง