สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวเคราะห์แบบดาวพฤหัสบดีรอดจากถูกดาวแม่กลืนกิน

ดาวเคราะห์แบบดาวพฤหัสบดีรอดจากถูกดาวแม่กลืนกิน

11 พ.ย. 2564
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
อีกราวไม่ถึงหมื่นล้านปีข้างหน้า เมื่อดวงอาทิตย์ได้ใช้ไฮโดรเจนที่ใจกลางไปจนหมด ปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่ใจกลางจะหยุดและแก่นดาวจะยุบลง ส่วนเนื้อดาวที่อยู่นอกแก่นดาวจะขยายใหญ่ออกไป ถึงช่วงนั้นดวงอาทิตย์จะมีขนาดใหญ่มากจนดาวพุธและดาวศุกร์ถูกกลืนหายเข้าไปในดวงอาทิตย์เลยทีเดียว โลกก็อาจจะถูกรวมเข้าไปด้วยเช่นกัน 

หลังจากการเป็นดาวยักษ์แดงอยู่เป็นระยะเวลาหนึ่ง ดวงอาทิตย์ก็จะหดกลับไปจนเหลือขนาดเล็กเท่าโลก และอยู่ในสถานะใหม่ที่เรียกว่าดาวแคระขาว 

แล้วดาวพฤหัสบดีและดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ที่อยู่ห่างออกไปเล่า จะเป็นอย่างไรหลังจากนั้น จากแบบจำลองที่นักดาราศาสตร์เคยสร้างขึ้นมาล้วนแสดงว่า ดาวพฤหัสบดีจะรอดพ้นจากช่วงเป็นดาวยักษ์แดงของดวงอาทิตย์ นั่นหมายความว่า ในระบบสุริยะอื่นที่ดาวฤกษ์แบบดวงอาทิตย์และมีดาวเคราะห์แก๊สยักษ์ที่มีขนาดและมีวงโคจรใกล้เคียงกับดาวพฤหัสบดีก็น่าจะรอดเช่นกัน แต่ทฤษฎีนี้ก็ยังขาดหลักฐานสนับสนุน

จนกระทั่งบัดนี้

เจ. ดับเบิลยู. แบล็กแมน จากมหาวิทยาลัยแทสเมเนีย ได้พบระบบดาวเคราะห์แห่งหนึ่งด้วยวิธีค้นหาจากปรากฏการณ์เลนส์จุลภาค ซึ่งเป็นการศึกษาแสงจากวัตถุห่างไกลที่บิดโค้งจากสนามความโน้มถ่วงของวัตถุที่ขวางกั้นระหว่างวัตถุนั้นกับโลก 

ปรากฏการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นในปี 2553 มีชื่อว่า เอ็มโอเอ-201-บีแอลจี-477 แอลบี การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของแสงแสดงว่าวัตถุที่อยู่เบื้องหน้า มีมวลอยู่ระหว่าง 0.15 0.93 มวลสุริยะ นอกจากนี้ยังพบว่าวัตถุดวงนี้มีดาวเคราะห์บริวารที่มีมวลระหว่าง 0.5-2.1 มวลดาวพฤหัสบดี 

ภาพกลางและภาพขวา แสดงภาพระยะใกล้ของวัตถุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เลนส์ เอ็มโอเอ-201-บีแอลจี-477 แอลบี เมื่อปี 2553 แสดงขีดโค้งของแสงที่โอบล้อมวัตถุเลนส์เอาไว้ ซึ่งเกิดจากความโน้มถ่วงหักเหแสงจากเบื้องหลัง วัตถุต้องสงสัยนี้ไม่ใช่ดาวฤกษ์ หากแต่เป็นดาวแคระขาวที่มีดาวเคราะห์แก๊สยักษ์เป็นบริวาร (จาก J.W. Blackman et al)

ปรากฏการณ์เลนส์ครั้งนั้นได้ผ่านพ้นไปกว่าศตวรรษแล้ว นักดาราศาสตร์ได้สำรวจไปที่วัตถุเลนส์นี้อีกครั้งด้วยกล้อง เคก ที่ตั้งอยู่บนฮาวาย เดิมทีนักดาราศาสตร์คาดว่าวัตถุที่มาบังจนทำให้เกิดปรากกฏการณ์เลนส์นั้นน่าจะเป็นดาวแถบลำดับหลัก แต่กล้องเคก กลับมองไม่เห็นดาวดวงนั้นเลย 

นี่ย่อมหมายความว่าวัตถุนั้นต้องไม่ใช่ดาวฤกษ์ หรืออาจเคยเป็นแต่ปัจจุบันกลายเป็นอย่างอื่นไปแล้ว  เมื่อวิเคราะห์ย่านของมวลตามที่ประเมินไว้ ขีดจำกัดล่างซึ่งอยู่ที่ 0.15 มวลสุริยะแสดงว่ายังหนักเกินกว่าจะเป็นดาวแคระน้ำตาล ส่วนขีดจำกัดบนที่ใกล้เคียงกับมวลดวงอาทิตย์ก็ยังเบาเกินกว่าจะเป็นดาวนิวตรอนหรือหลุมดำ

ดังนั้น จึงเหลือความเป็นไปได้เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นคือ ดาวแคระขาว และไม่ใช่ดาวแคระขาวเพียงดวงเดียว แต่เป็นดาวแคระขาวที่มีดาวเคราะห์แก๊สยักษ์แบบดาวพฤหัสบดีเป็นบริวารที่ยังอยู่รอดปลอดภัยอีกด้วย

ที่มา: