สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พบแหล่งน้ำกลางแคนยอนบนดาวอังคาร

พบแหล่งน้ำกลางแคนยอนบนดาวอังคาร

5 ก.พ. 2565
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
หุบผาชัน หรือแคนยอน เป็นภูมิลักษณ์ที่โดดเด่นสวยงาม บนโลกมีหุบผาชันหลายแห่ง หุบผาชันที่มีขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดก็คือแกรนด์แคนยอนที่อยู่ในรัฐแอริโซนาของสหรัฐอเมริกา มีความยาวเกือบ 450 กิโลเมตร 

บนดาวอังคารก็มีหุบผาชันแบบแกรนด์แคนยอนเหมือนกัน แต่ใหญ่กว่า กว้างกว่า และลึกกว่าจนแกรนด์แคนยอนของแอริโซนาเทียบไม่ติด มีชื่อว่า แวลลิสแมริแนริส เมื่อมองดูภาพถ่ายดาวอังคารเต็มดวงที่หันด้านที่แวลลิสแมริแนริสมา จะเห็นหุบผานี้ยาวเกินครึ่งของรัศมีดาวอังคารเสียอีก 

ยานมารส์เทรซแก๊สออร์บิเตอร์ ยานสำรวจของยุโรป-รัสเซีย โคจรรอบดาวอังคารมาตั้งแต่ปี 2559 (จาก ATG medialab/ ESA)

อีกสิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันระหว่างหุบผาชันทั้งสองแห่งก็คือ ที่ก้นหุบของแกรนด์แคนยอนมีแม่น้ำโคโรลาโด แต่ที่ก้นแวลลิสแมริแนริสไม่มีแม่น้ำ แม้จะเชื่อว่าหุบผาชันนี้เกิดจากการกระทำของน้ำ แต่น้ำนั้นได้เหือดแห้งไปเป็นเวลานานมากแล้ว

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2564 นักวิทยาศาสตร์ของภารกิจเทรซแก๊สออร์บิเตอร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจเอกโซมารส์ ได้ประกาศว่าค้นพบน้ำที่ใต้ก้นหุบของแวลลิสแมริแนริสด้วย

สภาพภูมิประเทศของ แคนเดอร์แคสมา ซึ่งอยู่ใจกลางของแวลลิสแมริแนริส บริเวณนี้เป็นบริเวณที่พบน้ำใต้ดินมากที่สุด (จาก ESA)

การค้นพบนี้เกิดจากเครื่องมือบนยานที่ชื่อว่า เฟรนด์ (FREND--Fine Resolution Epithermal Neutron Detector) ซึ่งได้ทำแผนที่แสดงปริมาณของไฮโดรเจนใต้พื้นดินของดาวอังคาร ข้อมูลจากยานที่เก็บบันทึกมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 ถึง กุมภาพันธ์ 2564 ทำให้นักดาราศาสตร์ต้องประหลาดใจเมื่อพบว่ามีไฮโดรเจนใต้พื้นดินก้นหุบเหวจำนวนมากกว่าที่เคยคาดคิดไว้

เนื่องจากไฮโดรเจนเป็นส่วนประกอบสำคัญของน้ำ และในธรรมชาติไฮโดรเจนก็มักอยู่ในรูปของน้ำ การพบไฮโดรเจนรวมตัวอยู่เป็นจำนวนมาก ก็อนุมานได้ว่าไฮโดรเจนนั้นอยู่ในรูปของน้ำ

จุดที่พบน้ำหนาแน่นที่สุดอยู่ที่บริเวณแคนเดอร์เคออส (Candor Chaos) ซึ่งกินพื้นที่กว้างพอ ๆ กับประเทศเนเธอร์แลนด์ ใกล้ผิวดินมีน้ำเป็นส่วนประกอบถึง 40 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว 

อุปกรณ์เฟรนด์ไม่ได้วัดน้ำโดยตรง แต่เป็นเครื่องมือวัดปริมาณของนิวตรอน เมื่อรังสีคอสมิกดาราจักรตกกระทบพื้นดินของดาวอังคาร จะทำให้เกิดนิวตรอนขึ้นมา หากเป็นดินแห้งจะทำให้เกิดนิวตรอนมากกว่าดินเปียก เมื่อทราบปริมาณนิวตรอนที่แผ่ออกมาก็จะทราบได้ว่าดินนั้นมีน้ำเป็นส่วนประกอบมากน้อยเท่าใด อุปกรณ์เฟรนด์มีความละเอียดสูงกว่าอุปกรณ์ประเภทเดียวกันที่เคยใช้กันมา จึงทำให้นักดาราศาสตร์ระบุตำแหน่งได้ชัดเจนว่าพื้นที่แต่ละส่วนมีปริมาณน้ำมากน้อยต่างกันอย่างไร

แต่สิ่งหนึ่งที่เฟรนด์ยังบอกไม่ได้คือ น้ำที่ตรวจพบอยู่ในรูปใด อาจเป็นน้ำที่เป็นของเหลว เป็นน้ำแข็งใต้ดิน หรืออาจเป็นเพียงโมเลกุลน้ำที่ฝังอยู่ในเนื้อแร่ อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์เชื่อว่าน่าจะอยู่ในรูปน้ำแข็งมากกว่า เพราะข้อมูลการสำรวจจากชุดอื่นในอดีตพบว่าแร่ธาตุบริเวณนี้ของดาวอังคารมีน้ำปะปนอยู่เพียงส่วนน้อย 

แผนที่แสดงความหนาแน่นของไฮโดรเจนบริเวณแวลลิสแมริแนริส ‘C’ แสดงถึงบริเวณที่มีน้ำจำนวนมาก   (จาก I. Mitrofanov et al. (2021)/ ESA.)


อย่างไรก็ตาม การที่หุบผาชันของดาวอังคารอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร น้ำแข็งหรือแม้แต่น้ำในรูปแบบอื่นควรจะระเหยหายไปอย่างง่ายดาย การพบน้ำบริเวณนี้แสดงว่าต้องมีเงื่อนไขพิเศษบางอย่างที่ทำให้น้ำแข็งยังคงอยู่ได้ ทั้งอุณหภูมิ ความดัน ความชุ่มชื้น นอกจากนี้ยังอาจมีกลไกบางอย่างที่สร้างน้ำคอยเติมแหล่งน้ำนี้อยู่เสมออีกด้วย อาจเป็นน้ำจากใต้ดินที่ลึกลงไปซึมผ่านขึ้นมา หรืออาจเป็นไอน้ำถูกลมพัดพามาทับถมในบริเวณนี้ก็ได้

แน่นอนว่า การค้นพบครั้งนี้ทำให้โอกาสที่จะพบสิ่งมีชีวิตมีมากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นซากดึกดำบรรพ์หรือสิ่งมีชีวิตที่ยังคงมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน และยังมีความหมายต่อการสำรวจหรือแม้แต่การตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารของมนุษย์ เพราะแหล่งน้ำที่พบในครั้งนี้อยู่ใกล้ผิวดิน อยู่ลึกลงไปเพียงไม่ถึงหนึ่งเมตร ต่างจากแหล่งน้ำอื่นที่เคยค้นพบก่อนหน้านี้ซึ่งอยู่ลึกหลายกิโลเมตร นอกจากนี้ยังอาจช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้เข้าใจถึงประวัติศาสตร์ของน้ำบนดาวอังคารได้อีกด้วย