สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พบดาวเคราะห์น้อยทรอยของดาวเนปจูนเพิ่มขึ้นอีกห้าดวง

พบดาวเคราะห์น้อยทรอยของดาวเนปจูนเพิ่มขึ้นอีกห้าดวง

25 ธ.ค. 2559
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ในระบบสุริยะ มีวัตถุขนาดเล็กประเภทหนึ่งที่เรียกว่า ดาวเคราะห์น้อยทรอย (Trojan Asteroid) เป็นดาวเคราะห์น้อยที่ใช้วงโคจรร่วมกับดาวเคราะห์ 

ดาวเคราะห์น้อยทรอยกลุ่มที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ ดาวเคราะห์น้อยทรอยของดาวพฤหัสบดี ซึ่งพบแล้วมากกว่า 6,000 ดวง 

ดาวเคราะห์ดวงอื่นก็มีดาวเคราะห์น้อยทรอยคอยตอมหน้าตอมหลังเช่นเดียวกัน เช่นดาวเสาร์ ดาวอังคาร ดาวยูเรนัส เนปจูน รวมถึงโลกเราก็มีเช่นกัน สำหรับดาวเนปจูน ก่อนหน้านี้มีดาวเคราะห์น้อยทรอยของดาวเนปจูนที่พบแล้ว 12 ดวง
 
จากการศึกษาของคณะนักดาราศาสตร์นำโดย หลิน สิ่งเหวิน จากมหาวิทยาลัยกลางแห่งชาติไต้หวัน โดยใช้ข้อมูลจากโครงการสำรวจ แพนสตารรส์-1 ซึ่งดำเนินการระหว่างปี 2553-2557 ทำให้พบดาวเคราะห์น้อยทรอยของดาวเนปจูนเพิ่มขึ้นอีกถึงห้าดวง การค้นพบนี้นอกจากจะทำให้ตัวเลขจำนวนดาวเคราะห์น้อยทรอยรวมของดาวเนปจูนเพิ่มขึ้นแล้ว ยังนำคำถามน่าสนใจใหม่  ๆ เพิ่มขึ้นมาอีก 

ในจำนวนดาวเคราะห์น้อยทรอยห้าดวงที่พบใหม่นี้ สี่ดวงอยู่ในจุดลากรันจ์ แอล 4 อีกหนึ่งดวงอยู่ที่จุดแอล 5 ทุกดวงมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ในช่วง 100-200 กิโลเมตร พบว่าสี่ดวงที่อยู่ที่จุดแอล มีเสถียรภาพดี เชื่อว่าเป็นดาวเคราะห์น้อยทรอยมาตั้งแต่ดั้งเดิม ส่วนอีกดวงหนึ่งที่อยู่ที่จุดแอล มีวงโคจรไม่เสถียร จึงเชื่อว่าดวงนี้อาจเพิ่งย้ายจากที่อื่นเข้ามาอยู่ในจุดลากรันจ์ได้ไม่นาน

นอกจากนี้ยังพบว่าดาวเคราะห์น้อยทรอยที่พบใหม่นี้มีระนาบวงโคจรเอียงต่างจากดวงที่พบก่อนหน้านี้ที่มีระนาบวงโคจรเอียงเป็นมุมมากกว่า 20 องศา แต่ในการค้นพบครั้งนี้มีเพียงดวงเดียวที่เป็นเช่นนั้น ที่เหลืออีกสี่ดวงมีระนาบวงโคจรเอียงเป็นมุมเฉลี่ย 10 องศาเท่านั้น

"ความเอียงของระนาบวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยบอกอะไรเราได้มากเกี่ยวกับกลไกและสภาพแวดล้อมของการกำเนิดดาวเคราะห์น้อยเหล่านั้น" ศ.หลิน อธิบาย "พวกที่มีระนาบของวงโคจรเอียงน้อยอาจมีต้นกำเนิดอยู่ที่จุดลากรันจ์นั้นเอง ต่อมาก็พอกพูนจนมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นดาวเคราะห์น้อยประจำจุดลากรันจ์ ซึ่งก็คือดาวเคราะห์น้อยทรอยนั่นเอง"

"ในทางกลับกัน วัตถุที่มีระนาบวงโคจรเอียงมาก อาจมีต้นกำเนิดต่างไป อาจเป็นวัตถุอื่นที่ถูกดาวเนปจูนคว้าจับหรือขโมยมาอยู่ในวงโคจรของตนเองที่จุดลากรันจ์  การคว้าจับนี้คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในช่วงที่ดาวเนปจูนมีการย้ายวงโคจร ซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการสร้างดาวเคราะห์ มุมของระนาบวงโคจรยังอาจบอกได้ด้วยว่าวัตถุเหล่านั้นถูกจับมาจากไหนและอย่างไร"

“ถ้ากลุ่มของวัตถุนั้นมีช่วงของมุมเอียงระนาบวงโคจรแคบ ๆ ในช่วงประมาณ 10 องศา ก็อาจแปลว่ามันถูกดึงมาจากจานของดงดาวเคราะห์ก่อนเกิดที่บางเฉียบ แต่ถ้ามีช่วงมุมเอียงระนาบวงโคจรกว้าง (ราว 20 องศา) ก็เป็นไปได้ว่าอาจถูกคว้าจับมาจากจานของดงดาวเคราะห์ก่อนเกิดที่หนาและมีพลวัตมาก ดังนั้นการศึกษาการกระจายของมุมระนาบวงโคจรจะช่วยให้เราได้เข้าใจว่าระบบสุริยะในช่วงเริ่มต้นมีลักษณะเช่นไร"
ดาวเคราะห์น้อยทรอย <wbr>ภาพวาดตามจินตนาการของศิลปิน <wbr><br />

ดาวเคราะห์น้อยทรอย ภาพวาดตามจินตนาการของศิลปิน 
(จาก NASA)

กล้องโทรทรรศน์แพนสตารรส์ 1

กล้องโทรทรรศน์แพนสตารรส์ 1 (จาก pan-starrs.ifa.hawaii.edu)

ภาพแอนิเมชันแสดงเส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยทรอยของดาวเนปจูนที่จุดแอล 1 เทียบกับตำแหน่งของดาวเนปจูน

ภาพแอนิเมชันแสดงเส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยทรอยของดาวเนปจูนที่จุดแอล 1 เทียบกับตำแหน่งของดาวเนปจูน (จาก Tony Dunn/Wikipedia Commons)

แผนผังแสดงการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยทรอยของโลก

แผนผังแสดงการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยทรอยของโลก (จาก NASA)

ที่มา: