สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ยอดจำนวนดาวเคราะห์ต่างระบบทะลุ 5,000 ดวงแล้ว

ยอดจำนวนดาวเคราะห์ต่างระบบทะลุ 5,000 ดวงแล้ว

8 พ.ค. 2565
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
จำนวนของดาวเคราะห์ต่างระบบที่ยืนยันได้แล้วทะลุเพดาน 5,000 ดวงไปแล้ว

ความจริงตัวเลข 5,000 ไม่ได้มีความสำคัญพิเศษอย่างไร ก็เหมือนกับ 4,900 ดวง หรือ 5,100 ดวง แต่การที่จำนวนดาวเคราะห์ที่ค้นพบได้พุ่งมาถึงระดับครึ่งหมื่นได้ภายในเวลาเพียงสามทศวรรษ เป็นการเน้นย้ำว่าวิทยาการของการสำรวจอวกาศก้าวหน้ามามากเพียงใด 

นักดาราศาสตร์ต่างฝันถึงการค้นพบดาวเคราะห์ต่างระบบมานานแล้ว แต่การค้นหาดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงอื่นที่อยู่ไกลหลายปีแสงเป็นเรื่องยากยิ่ง จึงไม่น่าแปลกใจที่กว่าที่นักดาราศาสตร์จะพบดวงแรกก็ต้องรอมาจนถึงปี 2535 

น่าสนใจที่ดาวเคราะห์ดวงแรกที่พบไม่ใช่บริวารของดาวฤกษ์ แต่เป็นบริวารของพัลซาร์ นักดาราศาสตร์ตรวจพบได้โดยการสังเกตคาบการเปล่งพัลส์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาอันเกิดจากแรงดึงดูดรบกวนของดาวเคราะห์

แผนภูมิแสดงสัดส่วนของประเภทดาวเคราะห์ต่างระบบที่ค้นพบ  (จาก NASA/JPL-Caltech)


วิธีค้นหาที่ใช้ต่อมาคือการวัดการเลื่อนดอปเพลอร์ของแสงดาวที่เปลี่ยนไปมาซึ่งเป็นผลจากการแกว่งไกวของดาวฤกษ์ เมื่อถึงปี 2545 มีดาวเคราะห์ต่างระบบที่ยืนยันได้เกือบ 90 ดวงแล้ว เกือบทั้งหมดโคจรรอบดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์

ในทศวรรษต่อมา นักดาราศาสตร์ได้ใช้เทคนิคใหม่ในการค้นหาดาวเคราะห์ นั่นคือใช้การตรวจหาการหรี่แสงของดาวฤกษ์ที่เกิดจากการที่ดาวเคราะห์บริวารของดาวดวงนั้นโคจรผ่านหน้าไป วิธีนี้มีประสิทธิภาพมาก จนจำนวนยอดดาวเคราะห์ที่พบพุ่งไปเป็น 800 ดวงเมื่อสิ้นปี 2555

จำนวนดาวเคราะห์ต่างระบบที่พบใหม่พุ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อถึงยุคของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ ซึ่งใช้วิธีการตรวจจับการผ่านหน้าของดาวเคราะห์เช่นเดียวกัน จนถึงปี 2558 เคปเลอร์ค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ได้มากกว่าหนึ่งพันดวง

แผนภูมิแสดงจำนวนของดาวเคราะห์ต่างระบบที่ค้นพบโดยกล้องเคปเลอร์ในแต่ละปี  (จาก NASA Ames/SETI/J Rowe)


ภารกิจเคปเลอร์ได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ก็ยังมีภารกิจรุ่นลูกที่มาสานต่อนั่นคือดาวเทียมเทสส์ ซึ่งได้ขึ้นสู่อวกาศในปี 2561 ภารกิจนี้คล้ายเคปเลอร์แต่สำรวจท้องฟ้าได้เป็นพื้นที่มากกว่า 

นับจนถึงขณะนี้ (มีนาคม 2565) มีดาวเคราะห์ต่างระบบที่พบและยืนยันได้แล้ว 5,005 ดวง และยังมีอีก 8,709 ดวงที่รอการยืนยัน

อย่างไรก็ตาม การศึกษาทำความเข้าใจดาวเคราะห์ต่างระบบยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าในดาราจักรทางช้างเผือกอาจมีดาวเคราะห์รวมกันมากหลายแสนล้านดวงเลยทีเดียว กล้องโทรทรรศน์รุ่นใหม่อย่างกล้องเจมส์เวบบ์หรือกล้องแนนซีเกรซโรมัน อาจช่วยในการศึกษาบรรยากาศของดาวเคราะห์เหล่านั้นได้ หรือยิ่งกว่านั้น อาจพบหลักฐานของสิ่งมีชีวิตในดาวเคราะห์ต่างระบบได้อีกด้วย

นักวิทยาศาสตร์ใช้เวลาสามสิบปีในการค้นพบดาวเคราะห์ห้าพันดวงแรก เชื่อได้ว่าห้าพันดวงถัดไปอาจใช้เวลาน้อยกว่านี้ก็ได้ 

ที่มา: