สมาคมดาราศาสตร์ไทย

แหล่งค้นหาสิ่งมีชีวิตแห่งใหม่บนดาวอังคาร

แหล่งค้นหาสิ่งมีชีวิตแห่งใหม่บนดาวอังคาร

21 เม.ย. 2551
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
คณะนักดาราศาสตร์นำโดย มิกกี ออสเทอร์ลู จากมหาวิทยาลัยฮาวาย ได้ค้นพบแหล่งตะกอนของเกลือคลอไรด์หลายแห่งบนดาวอังคาร จากการใช้ข้อมูลจากระบบเทมีส (THEMIS--Thermal Emission Imaging System) บนยานมาร์สโอดิสซีของนาซา 

ในมุมมองของนักดาราศาสตร์ ที่ไหนมีตะกอนเกลือ ก็แสดงว่าที่นั่นเคยมีน้ำ และถ้าที่นั่นเคยมีน้ำ ก็อาจหมายความว่าเคยมีสิ่งมีชีวิตมาก่อนด้วย

อุปกรณ์เทมีสเป็นอุปกรณ์ที่เหมาะสำหรับการสำรวจแร่จากระยะไกล พัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตต เป็นกล้องถ่ายภาพหลายช่วงคลื่น แบ่งเป็นช่วงคลื่นแสงที่ตามองเห็นห้าช่วงและอินฟราเรดสิบช่วง ภาพในช่วงอินฟราเรดของเทมีสสามารถแสดงรายละเอียดบนพื้นผิวดาวอังคารที่เล็กถึง 100 เมตรได้ 

พื้นที่ที่พบแหล่งเกลือมีประมาณ 200 แห่ง ในซีกใต้ของดาวอังคาร ในช่วงละติจูดปานกลางจนถึงใกล้เขตศูนย์สูตร และเป็นที่สูงเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาต

บริเวณที่พบแหล่งเกลือนี้มีลักษณะเฉพาะตัว หลายแหล่งที่พบคือบริเวณก้นแอ่งที่มีลำธารไหลมารวมกันอยู่ ลักษณะเช่นนี้คล้ายกับแอ่งเกลือที่พบบนโลก 
แต่ละแห่งมีขนาดตั้งแต่ ตารางกิโลเมตรจนถึง 25 ตารางกิโลเมตร เนื่องจากแต่ละแห่งที่พบไม่ต่อเนื่องกัน จึงเชื่อว่าทั้งหดไม่ได้เกิดจากแหล่งน้ำผิวดินขนาดใหญ่ แต่น่าจะเกิดจากแหล่งน้ำใต้ดินที่ผุดขึ้นมามากกว่า เมื่อน้ำระเหยไปก็ทิ้งคราบแร่ธาตุเอาไว้

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าตะกอนเกลือเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในตอนกลางของยุคโนอาเชียน ซึ่งอยู่ระหว่าง 3.9-3.5 พันล้านปีก่อน 

ก่อนหน้านี้ นักดาราศาสตร์ที่ค้นหาหลักฐานของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารในอดีตได้เน้นไปที่กา รสำรวจพื้นที่เฉพาะแห่งที่มีดินแข็งและแร่ธาตุจำพวกซัลเฟต เนื่องจากดินแข็งเป็นตัวแสดงสภาพลมฟ้าอากาศที่เกิดจากน้ำ ส่วนซัลเฟตก็อาจเกิดจากการระเหยของน้ำ แต่ในการวิจัยยุคหลังได้เริ่มหันเหมาให้ความสนใจกับเกลือมากกว่า 

ความอยากรู้ว่าบนดาวอังคารเคยมีสิ่งมีชีวิตมาก่อนหรือไม่เป็นแรงผลักดันสูงสุดที่ทำให้เกิดโครงการสำรวจดาวอังคารขึ้น เกลือมีสมบัติเด่นในการรักษาสารอินทรีย์ บนโลก นักวิทยาศาสตร์เคยคืนชีพให้แบคทีเรียที่กักอยู่ในเกลือมาเป็นเวลาหลายล้านปีมาแล้ว 

ขณะนี้นาซากำลังมองหาสถานที่เหมาะสมในการนำยานมาร์สไซนซ์แลบอราทอรี ซึ่งเป็นยานสำรวจดาวอังคารรุ่นต่อไปที่จะออกเดินทางในฤดูใบไม้ร่วงของปี 2552 พื้นที่พิเศษที่พบในครั้งนี้ย่อมเป็นเป้าหมายที่น่าพิจารณาของโครงการด้วย

ภาพสีแปลงที่ถ่ายโดยกล้องเทมีส <wbr>ตรงปื้นสีน้ำเงินแสดงตำแหน่งของเกลือที่พบในที่สูงของซีกใต้ของดาวอังคาร <wbr>นักวิทยาศาสตร์พบลักษณะเช่นนี้มากกว่า <wbr>200 <wbr>แห่ง <wbr>ตะกอนเหล่านี้มักพบบริเวณที่เป็นแอ่ง <wbr>ซึ่งบ่งบอกว่าดาวอังคารในอดีตเป็นดาวที่ชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำ <wbr>สี่เหลี่ยมสีดำแสดงตำแหน่งของภาพขยายข้างล่าง<br />
(ภาพจาก NASA/JPL/Arizona State University/University of Hawaii)

ภาพสีแปลงที่ถ่ายโดยกล้องเทมีส ตรงปื้นสีน้ำเงินแสดงตำแหน่งของเกลือที่พบในที่สูงของซีกใต้ของดาวอังคาร นักวิทยาศาสตร์พบลักษณะเช่นนี้มากกว่า 200 แห่ง ตะกอนเหล่านี้มักพบบริเวณที่เป็นแอ่ง ซึ่งบ่งบอกว่าดาวอังคารในอดีตเป็นดาวที่ชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำ สี่เหลี่ยมสีดำแสดงตำแหน่งของภาพขยายข้างล่าง
(ภาพจาก NASA/JPL/Arizona State University/University of Hawaii)

ภาพรายละเอียดพื้นผิวดาวอังคาร บริเวณที่เป็นเกลือคือส่วนที่ดูสว่าง (ภาพจาก NASA/JPL/Arizona State University/University of Hawaii/University of Arizona)

ภาพรายละเอียดพื้นผิวดาวอังคาร บริเวณที่เป็นเกลือคือส่วนที่ดูสว่าง (ภาพจาก NASA/JPL/Arizona State University/University of Hawaii/University of Arizona)

ที่มา: