สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เจมส์เวบบ์เผยภาพเรียกน้ำย่อย ก่อนปล่อยของจริง

เจมส์เวบบ์เผยภาพเรียกน้ำย่อย ก่อนปล่อยของจริง

8 ก.ค. 2565
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อวันที่ กรกฎาคมที่ผ่านมา องค์การนาซาได้เปิดเผยภาพที่ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์เป็นครั้งแรก ภาพนี้เกิดจากการผนวกภาพถ่ายจำนวน 72 ภาพที่ถ่ายในช่วงเวลา วัน รวมเวลารับแสง 32 ชั่วโมง เผยให้เห็นดาราจักรนับร้อยดาราจักร นับเป็นภาพถ่ายอวกาศในพิสัยของอินฟราเรดที่ลึกที่สุดเท่าที่เคยเปิดเผยกันมา 

ในภาพจะเห็นจุดสว่างและเลือนรางหลายจุด จุดสว่างที่มีประกายแฉกคือดาวฤกษ์ แฉกที่ปรากฏเกิดจากการเลี้ยวเบนภายในกล้อง ส่วนจุดที่ไม่มีประกายคือดาราจักร 

ภาพถ่ายภาพแรกจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ (จาก NASA, CSA, and FGS team)

แม้ว่าภาพนี้จะได้ชื่อว่าเป็นภาพอวกาศในพิสัยของอินฟราเรดที่ลึกที่สุดเท่าที่สาธารณชนเคยเห็น แต่นี่ไม่ใช่ภาพจากกล้องหลักของเจมส์เวบบ์ เป็นภาพที่ถ่ายโดยกล้องตามดาวแบบละเอียด หรือ เอฟจีเอส (FGS--Fine Guidance Sensor) กล้องนี้ไม่ได้มีหน้าที่ถ่ายภาพเพื่อใช้ในงานวิทยาศาสตร์ แต่มีหน้าที่ติดตามดาวเพื่อใช้ในการปรับการหันเหของกล้องให้ชี้ไปยังเป้าหมายอย่างเที่ยงตรงแม่นยำ ภาพที่ได้นี้จึงไม่มีประโยชน์ในการศึกษาดาราศาสตร์ ไม่มีฟิลเตอร์สี จึงใช้วัดสเปกตรัมไม่ได้ หาอุณหภูมิหรือหาอายุของดาราจักรต่าง ๆ ก็ไม่ได้ ภาพจากกล้องนี้ส่วนใหญ่จะถูกลบทิ้งไปหลังจากถ่ายภาพมาไม่นาน 

แม้จะไม่ใช้ภาพที่เกิดจากกล้องหลักที่ใช้ในทางวิทยาศาสตร์ แต่คุณภาพของภาพที่ได้ก็ดีพอที่จะเรียกเสียงฮือจากวงการดาราศาสตร์ได้มากแล้ว ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า หากเป็นภาพที่ได้จากกล้องหลักจริง ๆ จะมีคุณภาพสุดยอดเพียงใด เรื่องนี้ผู้ติดตามคงไม่ต้องรอนานนัก เพราะนาซามีกำหนด "ปล่อยของ" ภาพจากกล้องหลักให้ได้ชมกันในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้หรือต้นสัปดาห์หน้านี้เอง 

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์มีกล้องถ่ายภาพสองกล้อง และสเปกโทรมิเตอร์สองตัว มีหน้าที่ในการบันทึกภาพและสเปกตรัมของวัตถุต่าง ๆ ในอวกาศ ใช้ในการวิเคราะห์หาองค์ประกอบทางเคมี กล้องเจมส์เวบบ์เป็นกล้องโทรทรรศน์อินฟราเรดโดยเฉพาะ มีเป้าหมายสำคัญคือดาราจักรที่อยู่ห่างไกลสุดขอบเอกภพ แม้ว่าดาราจักรจะเปล่งแสงในย่านที่ตามองเห็น แต่ด้วยระยะทางที่อยู่ห่างไกลมาก การเลื่อนของสเปกตรัมที่เกิดจากการขยายตัวของเอกภพทำให้สเปกตรัมของดาราจักรเลื่อนไปอยู่ในย่านอินฟราเรด การศึกษาวัตถุที่อยู่ห่างไกลระดับนั้นจึงต้องพึ่งกล้องอินฟราเรดคุณภาพสูงอย่างเจมส์เวบบ์เท่านั้น  ส่วนเอฟจีเอสที่ใช้ถ่ายภาพในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของเจมส์เวบบ์ สร้างโดยองค์การอวกาศแคนาดา