สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ส่องวงปีสืบหาภัยคุกคามจากอวกาศ

ส่องวงปีสืบหาภัยคุกคามจากอวกาศ

17 ธ.ค. 2565
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อปี 2555 วารสารเนเจอร์ได้เผยแพร่รายงานการวิจัยฉบับหนึ่งซึ่งได้ทำให้โลกดาราศาสตร์ต้องตกตะลึง นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานว่ามีคาร์บอน-14 เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันในวงปีบางวงของต้นซีดาร์ญี่ปุ่น การสืบหาอายุจากวงปีชี้ว่า วงปีวงนั้นตรงกับปี ค.ศ. 774-775

เหตุการณ์ดังกล่าวต่อมาเป็นที่รู้จักกันในชื่อ เหตุการณ์มิยะเกะ ซึ่งตั้งชื่อตาม ฟุซะ มิยะเกะ หัวหน้านักวิจัยคณะดังกล่าว นอกจากวงของปี ค.ศ. 774 แล้ว ยังพบหลักฐานทำนองเดียวกันเกิดขึ้นที่วงของปี ค.ศ. 993, ค.ศ.660, 5,259 ก่อน ค.ศ.,  5410 ก่อน ค.ศ., และ 7176 ก่อน ค.ศ. อีกด้วย แม้จะไม่เด่นชัดเท่าของปี ค.ศ. 774 ก็ตาม ร่องรอยในลักษณะเดียวกันนี้เรียกรวมกันว่าเป็นเหตุการณ์มิยะเกะทั้งหมด โดยเฉลี่ยแล้วเหตุการณ์มิยะเกะเกิดขึ้นทุกหนึ่งพันปี  

ฟุซะ มิยะเกะ  (จาก APS/Alan Stonebraker)

โดยปกติคาร์บอน-14 เป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีที่มีในธรรมชาติน้อยมาก ปริมาณทั่วทั้งโลกรวมกันแล้วอาจมีเพียงไม่กี่กิโลกรัมเท่านั้น ไอโซโทปชนิดนี้เกิดขึ้นจากรังสีคอสมิกกระทบกับไนโตรเจนในบรรยากาศโลก คาร์บอน-14 ที่เกิดขึ้นมาจากรังสีคอสมิก จะทำให้สัดส่วนคาร์บอน-14 ในบรรยากาศโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งจะถูกดูดซับเข้าไปในเนื้อไม้ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลานั้น วงปีของต้นไม้จึงเป็นเหมือนบันทึกกาลเวลาที่บันทึกสภาพของบรรยากาศในแต่ละปีได้  นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้วงปีของไม้เป็นเครื่องมือศึกษาบรรยากาศโลกในอดีต ทำให้เรามองเห็นสภาพบรรยากาศโลกย้อนหลังไปได้พันปี 

วงปีของต้นไม้ อาจเก็บงำความลับเกี่ยวกับสภาพบรรยากาศในอดีตที่แปรปรวนจากการถูกรังสีคอสมิกโจมตี (จาก universetoday.com)

แม้ว่ายังจะไม่ทราบสาเหตุแท้จริงของการเพิ่มอย่างฉับพลันของคาร์บอน-14 แต่นักดาราศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าน่าจะเป็นเพราะเกิดการลุกจ้าจากดวงอาทิตย์ครั้งรุนแรง 

นักดาราศาสตร์ประเมินว่า การลุกจ้าที่จะทำให้เกิดเหตุการณ์มิยะเกะได้ จะรุนแรงกว่าการลุกจ้าที่ทำให้เกิดเหตุการณ์คาริงตันที่เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1859 ถึงหนึ่งอันดับ เหตุการณ์คาริงตันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากการลุกจ้าครั้งใหญ่บนดวงอาทิตย์ ซึ่งทำให้เกิดพายุแม่เหล็กโลกรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมา

หากเกิดการลุกจ้าที่รุนแรงระดับนั้นในปัจจุบัน จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาลต่อโครงสร้างพื้นฐานของมนุษย์โลก อาจทำให้ดาวเทียมเสียหาย ทำลายเครือข่ายสายเคเบิลใต้ทะเลอินเทอร์เน็ต สายส่งไฟฟ้าระยะไกล หม้อแปลงไฟฟ้า และเทคโนโลยีอื่น ๆ อีกมาก

ดวงอาทิตย์ มีการปะทุรุนแรงเกิดขึ้นอยู่เสมอ  

เมื่อไม่นานมานี้ นักดาราศาสตร์คณะหนึ่งจากสำนักคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ประยุกต์ของมหาวิทยาลัยควีนสแลนด์ นำโดย ดร.เบนจามิน โปป ได้ศึกษาในเรื่องนี้เพื่อหาคำตอบให้แน่ชัดว่า เหตุการณ์มิยะเกะเกิดจากอะไรกันแน่ โดยได้สร้างแบบจำลองที่แสดงกระบวนการสร้างคาร์บอน-14ที่ดำเนินเป็นเวลากว่า 10,000 ปีโดยใช้ข้อมูลดิบจากการศึกษาวงปีต้นไม้ทั้งหมด ผลที่ได้กลับทำให้ทำให้ต้องกลับมาทบทวนทฤษฎีการลุกจ้าอีกครั้ง

ผลจากแบบจำลองแสดงว่า เวลาของเหตุการณ์ไม่สัมพันธ์กับวัฏจักรสุริยะที่มีคาบ 11 ปี บางครั้งก็เกิดขึ้นในช่วงต่ำสุดของวัฏจักรสุริยะ บางครั้งก็เกิดขึ้นในช่วงสูงสุด บางครั้งก็เกิดในช่วงระหว่างกลาง 

และที่สำคัญ ข้อมูลบ่งชี้ว่าเหตุการณ์มิยะเกะกินระยะเวลานานข้ามปี ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่าไม่น่าจะเกิดจากการปะทุบนดวงอาทิตย์ หากเกิดจากการปะทุบนดวงอาทิตย์อย่างเช่นการลุกจ้า เหตุการณ์ก็น่าจะกินเวลาสั้น อย่างเหตุการณ์คาริงตันก็เกิดขึ้นเพียงแต่สองวันเท่านั้น ดังนั้นสาเหตุของเหตุการณ์มิยะเกะอาจไม่ใช่การลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ แต่อาจเป็นการปะทุบางอย่างที่รุนแรงระดับพายุและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน 

แล้วเหตุการณ์เช่นว่านั้นคืออะไร ดร.โปปกล่าวว่าตนก็ยังไม่แน่ใจนัก ดังนั้น ณ ขณะนี้จึงยังพยากรณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบมิยะเกะอีกเมื่อใด 

"แต่อย่างน้อย การวิเคราะห์เชิงสถิติทำให้เชื่อได้ว่ามีโอกาสราวหนึ่งเปอร์เซ็นต์ที่จะเกิดขึ้นภายในหนึ่งร้อยปีข้างหน้า" ดร.โปปกล่าว

ตัวเลขนี้แม้จะไม่มากนักแต่ก็ไม่อาจมองข้าม จึงต้องมีการศึกษาวิจัยกันต่อไป