สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ฮับเบิลวัดดาวหางโฮมส์

ฮับเบิลวัดดาวหางโฮมส์

23 พ.ย. 2550
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ถึงเวลานี้ถ้าใครยังไม่รู้จักดาวหางโฮมส์ก็เชยเต็มทน ด้วยขนาดที่ใหญ่โตและความสว่างแบบไม่ธรรมดาของโฮมส์ทำให้กล้องน้อยใหญ่ทั่วโลกต่างก็หันไปยังดาวหางดวงนี้ แล้วยอดกล้องโทรทรรศน์ลอยฟ้าอย่างฮับเบิลจะพลาดได้อย่างไร

ดาวหางโฮมส์ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า 17 พี/โฮมส์ (17P/Holmes) ถูกค้นพบในวันที่ 15 มิถุนายน 2542 ในขณะนั้นดาวหางดวงนี้แทบยังไม่มีฝุ่นรอบนิวเคลียสเลย ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2550 ดาวหางดวงนี้ได้เพิ่มสว่างขึ้นอย่างฉับพลัน ภายในเวลาเพียง 24 ชั่วโมงความสว่างของดาวหางได้เพิ่มขึ้นถึงหนึ่งล้านเท่า

นักดาราศาสตร์ได้ใช้กล้องฮับเบิลซึ่งมีกำลังและความละเอียดสูงสำรวจนิวเคลียสของดาวหางโฮมส์เพื่อหาสาเหตุว่ามันลุกจ้าขึ้นแบบนี้ได้อย่างไร ฮับเบิลได้ใช้อุปกรณ์ที่ชื่อว่า ดับเบิลยูเอฟพีซี ติดตามดาวหางนี้เป็นเวลาหลายวัน และได้ถ่ายภาพไว้ในวันที่ 29, 30, 31 ตุลาคม, และ พฤศจิกายน ความละเอียดของภาพจากของกล้องฮับเบิลสามารถแสดงวัตถุที่เล็กที่สุดถึง 54 กิโลเมตรได้

แม้จะผ่านการปะทุครั้งใหญ่มาแล้วถึง 12 วัน แต่ภาพนิวเคลียสของดาวหางยังคงขมุกขมัวไปด้วยม่านฝุ่นอันแน่นทึบ สิ่งที่ปรากฏในภาพส่วนใหญ่ก็คือฝุ่นขนาดเล็กจิ๋วที่สะท้อนแสงอาทิตย์ แต่นักดาราศาสตร์เชื่อว่าภาพของนิวเคลียสเองจะค่อยปรากฏขึ้นในดวงตาของฮับเบิลอีกไม่นาน

แม้กล้องฮับเบิลยังมองไม่เห็นรูปร่างของนิวเคลียสอย่างชัดเจน แต่ขนาดของนิวเคลียสยังอาจประมาณได้จากความสว่าง นักดาราศาสตร์คาดว่านิวเคลียสของดาวหางดวงนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3.4 กิโลเมตร 

ภาพที่ถ่ายโดยฮับเบิลในช่วงก่อนหน้านี้ได้แสดงสิ่งน่าสนใจบางอย่าง ภาพที่ถ่ายในวันที่ 29 ตุลาคม พบสิ่งคล้ายเดือยแหลมสามแท่งชี้ออกจากนิวเคลียส ส่วนภาพที่ถ่ายในวันที่ 31 ตุลาคม แสดงการปะทุของฝุ่นทางตะวันตกของนิวเคลียส

ก่อนหน้าที่จะมีการเปิดเผยภาพจากฮับเบิล มีข้อสันนิษฐานว่านิวเคลียสของดาวหางโฮมส์อาจแตกออก เป็นผลให้ดาวหางสว่างขึ้นอย่างฉับพลัน เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในกรณีของดาวหาง 73 พี/ชวาสมันน์-วัคมันน์ (73P/Schwassmann-Wachmann 3) ซึ่งในต้นปี 2549 กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลพบว่านิวเคลียสของดาวหางดวงนี้ได้แตกออก กลายเป็นดาวหางจิ๋วหลายดวง และเมื่อแตกออกความสว่างของดาวหางโดยรวมก็เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน 

อย่างไรก็ตาม ภาพจากฮับเบิลไม่ได้แสดงการแตกของนิวเคลียสแต่อย่างใด ภาพจากกล้องภาคพื้นดินแสดงชั้นฝุ่นหนาทรงกลมที่เหลื่อมกับตำแหน่งของนิวเคลียส สิ่งนี้อาจแสดงว่ามีชิ้นส่วนจากนิวเคลียสหลุดออกมาแล้วสลายออกเป็นฝุ่นหลุดลอยออกไป

โอกาสในการพิสูจน์ว่านิวเคลียสของดาวหางโฮมส์แตกจริงหรือไม่อาจไม่เกิดขึ้น ฝุ่นที่หนาทึบ ระยะห่างของดาวหางที่ไกลถึง 1.6 หน่วยดาราศาสตร์ ทำให้การสำรวจรายละเอียดรอบนิวเคลียสแทบเป็นไปไม่ได้ในขณะนี้ นอกเสียจากว่าชิ้นส่วนที่แตกมีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับนิวเคลียสเอง

ภาพทางขวาคือภาพจากกล้องฮับเบิล ถ่ายเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน เป็นภาพส่วนใจกลางของดาวหาง ส่วนกลางภาพมีการเน้นการกระจายของฝุ่นรอบนิวเคลียส พบว่าฝุ่นที่พุ่งจากนิวเคลียสในแนวตะวันออก-ตกมีมากกว่าในแนวเหนือ-ใต้ถึงสองเท่า ทำให้ดูเผิน ๆ คล้ายโบว์หูกระต่าย ส่วนภาพสีทางซ้าย เป็นภาพที่ถ่ายเมื่อวันที่ 1 โดยนักดาราศาสตร์สมัครเล่น อลัน ไดเออร์ แสดงโครงสร้างซับซ้อนของทั้งโคม่า ประกอบด้วยเปลือกที่แน่นไปด้วยฝุ่นและหางจาง ๆ แผ่ออกจากดาวหางไปทางด้านขวา

ภาพทางขวาคือภาพจากกล้องฮับเบิล ถ่ายเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน เป็นภาพส่วนใจกลางของดาวหาง ส่วนกลางภาพมีการเน้นการกระจายของฝุ่นรอบนิวเคลียส พบว่าฝุ่นที่พุ่งจากนิวเคลียสในแนวตะวันออก-ตกมีมากกว่าในแนวเหนือ-ใต้ถึงสองเท่า ทำให้ดูเผิน ๆ คล้ายโบว์หูกระต่าย ส่วนภาพสีทางซ้าย เป็นภาพที่ถ่ายเมื่อวันที่ 1 โดยนักดาราศาสตร์สมัครเล่น อลัน ไดเออร์ แสดงโครงสร้างซับซ้อนของทั้งโคม่า ประกอบด้วยเปลือกที่แน่นไปด้วยฝุ่นและหางจาง ๆ แผ่ออกจากดาวหางไปทางด้านขวา

ดาวหางโฮมส์ (17P/Holmes) ถ่ายเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2550 สร้างภาพจากการผนวกภาพอินฟราเรด เขียว และน้ำเงินเข้าด้วยกัน (ภาพจาก Francis Reddy)

ดาวหางโฮมส์ (17P/Holmes) ถ่ายเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2550 สร้างภาพจากการผนวกภาพอินฟราเรด เขียว และน้ำเงินเข้าด้วยกัน (ภาพจาก Francis Reddy)

นิวเคลียสของดาวหาง <wbr>73 <wbr>พี/ชวาสมันน์-วัคมันน์ <wbr>3 <wbr>ได้แตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย <wbr>จึงมีฝุ่นฟุ้งกระจายและความสว่างเพิ่มขึ้นอย่างมาก <wbr><br />
(ภาพจาก <wbr>NASA, <wbr>ESA, <wbr>H. <wbr>Weaver <wbr>(JHU <wbr>/ <wbr>APL), <wbr>M. <wbr>Mutchler <wbr>and <wbr>Z. <wbr>Levay <wbr>(STScI))<br />

นิวเคลียสของดาวหาง 73 พี/ชวาสมันน์-วัคมันน์ ได้แตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จึงมีฝุ่นฟุ้งกระจายและความสว่างเพิ่มขึ้นอย่างมาก 
(ภาพจาก NASA, ESA, H. Weaver (JHU APL), M. Mutchler and Z. Levay (STScI))

ที่มา: