สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ภาพดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นภาพแรก

ภาพดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นภาพแรก

9 มิ.ย. 2548
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมื่อราวเดือนเมษายนปี 2547 มีข่าวน่าตื่นเต้นว่า นักดาราศาสตร์ได้ถ่ายภาพของดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวดวงอื่นได้สำเร็จเป็นครั้งแรก เป็นผลงานของคณะนักดาราศาสตร์นานาชาติ นำโดย เกล เชาวิน จากหอดูดาวอีโซ หรือหอดูดาวยุโรปซีกโลกใต้ด้วยกล้องวีแอลทีที่มีระบบอะแดปทีฟออปติก

ดาวเคราะห์ดวงนี้มีมวล เท่าของดาวพฤหัสบดี ความจริงไม่ใช่บริวารของดาวฤกษ์ แต่เป็นบริวารของดาวแคระน้ำตาลที่ชื่อว่า 2M 1207  ดาวแคระน้ำตาลเป็นวัตถุคล้ายดาวฤกษ์แต่ร้อนน้อยกว่า จางกว่า และมวลน้อยกว่ามาก 

อย่างไรก็ตาม ในครั้งนั้นนักดาราศาสตร์ยังยืนยันไม่ได้แน่ชัดนักว่าภาพที่ได้เป็นภาพของดาวเคราะห์จริง เพราะยังต้องการการสำรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันว่า วัตถุดวงเล็กนั้นเป็นบริวารของดาวแคระน้ำตาล 2M 1207 จริง

หลังจากนั้นอีกเพียงไม่กี่เดือน กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลได้ยืนยันว่าวัตถุทั้งสองดวงเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกัน นั่นหมายความว่าวัตถุทั้งสองนั้นอยู่ห่างจากโลก 230 ปีแสงเท่ากัน และมีแรงดึงดูดโน้มถ่วงยึดเหนี่ยวต่อกัน จึงเป็นการสนับสนุนว่าวัตถุทั้งสองเป็นวัตถุแม่ลูกกัน

ล่าสุด ได้มีรายงานวิจัยอีกฉบับหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารแอสทรอนอมีแอนด์แอสทรอฟิสิกส์โดยเชาลินและคณะเช่นกันซึ่งได้ศึกษาเพิ่มเติมด้วยกล้องวีแอลที งานวิจัยนี้นอกจากระบุว่าวัตถุทั้งสองนั้นมีแรงยึดเหนี่ยวต่อกันจริงๆ แล้ว ยังเผยสเปกตรัมที่แสดงว่าวัตถุดวงที่เล็กกว่ามีอุณหภูมิต่ำและเต็มไปด้วยไอน้ำ การค้นพบครั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนโดยไบรอัน มารส์เดน จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ณ เบิร์กเลย์ ซึ่งเป็นนักล่าดาวเคราะห์มือหนึ่งของโลกอีกด้วย

เนื่องจากวัดมวลของดาวบริวารโดยตรงไม่ได้ นักสำรวจคณะนี้จึงต้องวัดทางอ้อมจากแบบจำลองที่ให้ผลสอดคล้องกับอายุ อุณหภูมิ และความสว่าง บริวารนี้มีเส้นสเปกตรัมแคบหลายเส้น ซึ่งเหมือนสเปกตรัมของวัตถุที่มีมวลต่ำประมาณดาวเคราะห์ยักษ์มากกว่าดาวแคระน้ำตาล คาดว่าวัตถุดวงนี้อาจหนักกว่าดาวพฤหัสบดีไม่ถึง เท่า ในขณะที่หากเป็นดาวแคระน้ำตาลจะต้องหนักกว่าดาวพฤหัสบดีไม่ต่ำกว่า 13 เท่า

ดาวบริวารอยู่ห่างจากดาวแคระน้ำตาล 2M 1207 ไม่น้อยกว่า 55 หน่วยดาราศาสตร์ (ราวสองเท่าของระยะทางเนปจูน-ดวงอาทิตย์) แสดงว่าดาวบริวารนี้ต้องใช้เวลากว่า 1,000 ปีกว่าจะโคจรรอบดาวแม่หนึ่งรอบ 

นอกจากภาพบริวารของดาว 2M 1207 ที่ต้องบันทึกไว้เป็นจดหมายเหตุว่าเป็นภาพดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นดวงแรกที่ถ่ายภาพได้แล้ว ซุกเคอร์แมนและเชาลินยังถ่ายภาพของบริวารของดาว เอบีขาตั้งภาพ (AB Pictoris) เอาไว้อีกด้วย บริวารดวงนี้มีมวลประมาณ 13-14 เท่าของมวลดาวพฤหัสบดี ซึ่งคาบเกี่ยวระหว่างการเป็นดาวเคราะห์หรือดาวแคระน้ำตาล  และเมื่อเดือนที่แล้วนี้เอง คณะนักดาราศาสตร์จากเยอรมนีก็ถ่ายภาพของวัตถุบริวารของดาว จีคิวกระต่ายป่า (GQ Lupi) ซึ่งอาจเป็นดาวเคราะห์ด้วยเช่นกัน

ดาวแคระน้ำตาล 2M 1207 และบริวาร

ดาวแคระน้ำตาล 2M 1207 และบริวาร

ที่มา: