สมาคมดาราศาสตร์ไทย

อนาคตฮับเบิล อยู่หรือไป

อนาคตฮับเบิล อยู่หรือไป

8 ม.ค. 2548
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
แทบทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุกับโครงการอวกาศถึงขั้นต้องเสียชีวิตของนักบินอวกาศไป องค์การนาซามักมีอาการขยาดไประยะหนึ่งเสมอ แต่สำหรับครั้งล่าสุดดูเหมือนจะขยาดหนักกว่าทุกครั้ง นับจากที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นกับยานขนส่งอวกาศโคลัมเบีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2546 ผู้อำนวยการขององค์การนาซา ชอน โอคีฟ ได้ประกาศนโยบายว่า จะงดภารกิจอวกาศของยานขนส่งอวกาศทั้งหมดยกเว้นเพียงการส่งไปปฏิบัติภารกิจกับสถานีอวกาศนานาชาติเท่านั้น เนื่องจากไม่ต้องการเอาชีวิตนักบินอวกาศไปเสี่ยงอีก

มองในแง่หนึ่ง การตัดสินใจครั้งนี้อาจมองได้ว่ามีเหตุผลดี เพราะชีวิตคนมีค่ามากนัก การเสี่ยงอย่างไม่จำเป็นย่อมไม่ควรทำ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง ภารกิจที่ใช้มนุษย์อวกาศก็ยังมีความจำเป็นในหลายกรณี ทั้งการทดลอง วิจัย กู้และซ่อมบำรุงดาวเทียม รวมถึงการซ่อมบำรุงกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลด้วย 

กล้องฮับเบิลจำเป็นต้องมีการซ่อมบำรุงอยู่เสมอ ที่ผ่านมามีปฏิบัติการซ่อมบำรุงโดยส่งนักบินอวกาศไปแล้ว ครั้ง รายการซ่อมบำรุงที่สำคัญได้แก่ การเปลี่ยนแบตเตอรี่ เปลี่ยนไจโรสโกปซึ่งเป็นอุปกรณ์ควบคุมทิศทางและระดับความสูงจากพื้นโลก และการถอดเปลี่ยนอุปกรณ์ตัวใหม่ หากไม่มีภารกิจการซ่อมบำรุงแล้ว กล้องฮับเบิลก็จะเสื่อม อุปกรณ์จะตายไปทีละตัวจนใช้การไม่ได้ ยิ่งกว่านั้น หากไจโรสโกปเสียไปจนเหลือน้อยกว่า ตัว กล้องจะเสียการควบคุมระดับความสูงและจะตกลงสู่พื้นโลกอย่างไร้การควบคุม ซึ่งจะเป็นอันตรายมากหากตกลงสู่เขตชุมชน

ดังนั้นจึงมีทางเลือกสองทางใหญ่ ๆ สำหรับอนาคตของฮับเบิล คือจะส่งภารกิจซ่อมบำรุงเพื่อยืดชีวิตฮับเบิลเอาไว้ หรือทิ้งฮับเบิลเสียแต่เนิ่น ๆ ในขณะที่ยังควบคุมเป้าหมายการตกได้ก่อนที่จะควบคุมไม่ได้

การตัดสินใจดังกล่าวของผู้อำนวยการโอคีฟทำให้เกิดการแบ่งแยกทางความคิดอย่างชัดเจนและรุนแรงในหมู่นักดาราศาสตร์ ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนการตัดสินใจของผู้อำนวยการ อีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยและต้องการให้นาซารักษาฮับเบิลเอาไว้ กลุ่ม "เพื่อนฮับเบิล" นี้มิได้มีเพียงหมู่นักดาราศาสตร์อาชีพเท่านั้น แต่ยังมีแรงสนับสนุนจากนักดาราศาสตร์สมัครเล่นอีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม นาซาได้เลือกทางออกไว้แล้วนั่นคือการใช้หุ่นยนต์ไปปฏิบัติการแทน แม้เทคโนโลยีนี้จะเป็นของใหม่ แต่นาซาหวังว่าจะทำได้สำเร็จทันปี 2550-2551 ซึ่งเป็นเวลาสุดท้ายก่อนที่ไจโรสโกปจะทยอยเสียจนเหลือเพียง ตัว

ลุย เจ. แลนซีรอตตี จากสถาบันเทคโนโลยีนิวเจอร์ซีและห้องวิจัยเบลล์กล่าวว่า แนวคิดในการส่งหุ่นยนต์ไปปฏิบัติหน้าที่แทนคนอาจยังไม่ใช่ทางออกสำหรับฮับเบิลในตอนนี้ เพราะยังไม่เคยมีการทดลองเทคโนโลยีหุ่นยนต์ซ่อมดาวเทียมจริง ๆ ในอวกาศเลย ครั้นจะให้รอการพัฒนาและทดลองเทคโนโลยีนี้จนสำเร็จก็เกรงว่าจะไม่ทันการณ์ ดังนั้นนาซาควรส่งมนุษย์ไปปฏิบัติการเสียก่อน การที่นาซายอมให้ยานขนส่งอวกาศขนนักบินอวกาศไปปฏิบัติหน้าที่บนสถานีอวกาศนานาชาติ แสดงว่านาซายอมเสี่ยงในระดับหนึ่งแล้ว แต่ในเมื่อความเสี่ยงในการส่งนักบินอวกาศไปสถานีอวกาศนานาชาติกับการส่งไปบำรุงกล้องฮับเบิลแทบไม่ต่างกันเลย ถ้าอย่างนั้นเหตุใดจึงไม่ส่งนักบินอวกาศไปซ่อมบำรุงฮับเบิลเล่า หากคำนึงถึงผลความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่จะได้จากฮับเบิลแล้ว นับว่าฮับเบิลมีค่ามากคุ้มเสี่ยงอย่างยิ่ง

เพรสตัน เบิร์ช จากองค์การนาซาและศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ด มีความเห็นไปอีกทางหนึ่ง เขากล่าวว่า เทคโนโลยีหุ่นยนต์ไม่ได้อยู่ไกลอย่างที่คิด เทคโนโลยีปัจจุบันก้าวหน้าไปมาก ที่ผ่านมาได้มีการสร้างหุ่นยนต์หลายตัวสำหรับใช้งานบนสถานีอวกาศนานาชาติแล้ว และทางนาซายืนยันที่จะยึดแนวทางนี้ต่อไป

ระหว่างที่คนรักฮับเบิลหลายคนอาจหมดหวัง ก็เหมือนเกิดฟ้าผ่ากลางนาซา เมื่อผู้อำนวยการโอคีฟได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งโดยเหตุผลส่วนตัว และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเสนอชื่อบุคคลที่จะมาแทนโอคีฟ บางทีผู้อำนวยการคนใหม่อาจตัดสินใจบางอย่างที่แตกต่างออกไปก็ได้

กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล

กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล

ชอน โอคีฟ ผู้อำนวยการองค์การนาซา

ชอน โอคีฟ ผู้อำนวยการองค์การนาซา

เจ้าหน้าที่กำลังทดลองการใช้หุ่นยนต์ทำหน้าที่ซ่อมแซมฮับเบิลในห้องทดลอง

เจ้าหน้าที่กำลังทดลองการใช้หุ่นยนต์ทำหน้าที่ซ่อมแซมฮับเบิลในห้องทดลอง

ภาพการการซ่อมบำรุงกล้องฮับเบิลโดยนักบินอวกาศอย่างนี้ อาจไม่มีให้เห็นอีกต่อไป เพราะนาซาคิดจะส่งหุ่นยนต์ไปทำหน้าที่แทน

ภาพการการซ่อมบำรุงกล้องฮับเบิลโดยนักบินอวกาศอย่างนี้ อาจไม่มีให้เห็นอีกต่อไป เพราะนาซาคิดจะส่งหุ่นยนต์ไปทำหน้าที่แทน

ที่มา: