สมาคมดาราศาสตร์ไทย

การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่สุด

การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่สุด

2 มิ.ย. 2547
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า นับแต่ที่มีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นมาเมื่อหลายล้านปีมาแล้ว โลกได้เคยประสบเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาแล้ว ครั้ง เหตุการณ์เหล่านี้อาจเกิดจากภัยธรรมชาติหรือเหตุอื่น ๆ การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่รู้จักทั่วไปและยอมรับกันมากที่สุดก็คือ เหตุการณ์ชิกซูลุบ ซึ่งเกิดจากอุกกาบาตขนาดใหญ่พุ่งเข้าชนโลกที่บริเวณคาบสมุทรยูคาตัน ประเทศเม็กซิโกเมื่อ 65 ล้านปีก่อน เป็นผลทำให้ไดโนเสาร์เกือบทั้งหมดบนโลกต้องสูญพันธุ์ไป

นักดาราศาสตร์คณะหนึ่งนำโดย ลูแอนน์ เบกเกอร์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้เสนอทฤษฎีใหม่ว่า เมื่อราว 251 ล้านปีมาแล้ว ได้เคยเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่มาแล้วเหมือนกัน เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลตายไปถึง 90 เปอร์เซ็นต์และสิ่งมีชีวิตบนบกตายไปถึง 70 เปอร์เซ็นต์ 

สาเหตุของเหตุการณ์นั้นเกิดจากการพุ่งชนของวัตถุนอกโลกเช่นเดียวกัน แต่เป้าของการชนเกิดขึ้นที่บริเวณชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของบริเวณที่เป็นทวีปออสเตรเลียในปัจจุบัน

ที่มาของแนวคิดนี้ส่วนหนึ่งมาจากการศึกษาก้อนหินสองก้อนที่ขุดขึ้นมาจากบริเวณใต้ทะเลที่มีชื่อว่าที่สูงบีดู (Bedout High)ในระหว่างทศวรรษ 1970 ถึง 1980 โดยบริษัทขุดเจาะน้ำมัน ก้อนหินสองก้อนนี้เคยศึกษากันมาก่อนหน้านี้แล้วและเชื่อว่าเกิดขึ้นในตอนปลายยุคเพอร์เมียน (ยุคสุดท้ายของมหายุคพาลีโอโซอิก อยู่ในช่วง 286-245 ล้านปีก่อน) และเกิดจากภูเขาไฟ แต่หลังจากวิเคราะห์ใหม่อย่างถี่ถ้วนแล้วเชื่อว่าเป็นหินที่เกิดจากการหลอมละลายโดยความร้อนที่เกิดจากการพุ่งชนของวัตถุนอกโลก นั่นหมายความว่าบีดูนั้นคือแผลจากการพุ่งชนของอุกกาบาตนั่นเอง

มีหลักฐานอื่นหลายอย่างที่สนับสนุนแนวคิดนี้ เช่นก่อนหน้านี้ เบกเกอร์และคณะได้เคยสำรวจในทวีปแอนตาร์กติกาและพบชิ้นส่วนของอุกกาบาตหลายชิ้นฝังอยู่ในชั้นตะกอนของยุคเพอร์เมียน นอกจากนี้ยังมีการพบเม็ดแร่เขี้ยวหนุมานร้าวขนาดใหญ่ในตะกอนยุคเพอร์เมียนในทวีปออสเตรเลีย รอยร้าวในแร่เขี้ยวหนุมานมีหลายรอยหลายทิศ ซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าลักษณะเช่นนี้เกิดจากการชนของอุกกาบาต

จากการศึกษาคลื่นไหวสะเทือนและข้อมูลด้านแรงโน้มถ่วงพบว่า หลุมบีดูมีความกว้างราว 195 กิโลเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับหลุมที่ชิกซูลุบ

ความคล้ายคลึงกันระหว่างเหตุการณ์บีดูกับเหตุการณ์ชิกซูลุบอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นเหตุการณ์ที่ตรงกับช่วงที่มีภูเขาไฟปะทุมากเป็นพิเศษ นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เคยเชื่อว่าการพุ่งชนของอุกกาบาตกับมหกรรมการปะทุของภูเขาไฟเป็นเพียงความบังเอิญ แต่การที่พบว่าเหตุการณ์บีดูก็เกิดตรงกับยุคภูเขาไฟเหมือนกัน อาจทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องเปลี่ยนความคิดก็เป็นได้

เปรียบเทียบโครงสร้างแบบหินกรวดเหลี่ยมของหินจากบีดูชื่อ บีดู-1 (ซ้าย) กับหินชื่อ แยกซ์-1 จากชิกซูลุบ (ขวา) (ภาพจาก Luann Becker, UCSB)

เปรียบเทียบโครงสร้างแบบหินกรวดเหลี่ยมของหินจากบีดูชื่อ บีดู-1 (ซ้าย) กับหินชื่อ แยกซ์-1 จากชิกซูลุบ (ขวา) (ภาพจาก Luann Becker, UCSB)

ตำแหน่งของหลุมบีดู อยู่นอกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปออสเตรเลีย มีขนาดกว้าง 195 กิโลเมตร (ภาพจาก Roen Kelly & University of Texas)

ตำแหน่งของหลุมบีดู อยู่นอกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปออสเตรเลีย มีขนาดกว้าง 195 กิโลเมตร (ภาพจาก Roen Kelly & University of Texas)

ที่มา: