สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เนียร์พบอีรอส

เนียร์พบอีรอส

1 มี.ค. 2543
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ยานอวกาศเนียร์ (NEAR) ได้เดินทางไปถึงดาวเคราะห์น้อยอีรอสแล้วเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา 

เมื่อเวลา 15.33 น. ของวันที่ 14 กุมภาพันธ์ตามเวลาสากล ยานเนียร์ได้จุดจรวดเพื่อลดความเร็วของยานลงจนกระทั่งเหลือเพียง เมตรต่อวินาทีเทียบกับอีรอส เพื่อให้ช้าพอให้สนามความโน้มถ่วงอันอ่อนบางของดาวเคราะห์น้อยสามารถคว้าจับยานให้โคจรเอาไว้ได้ 

วงโคจรเริ่มต้นของยานจะอยู่ห่างจากผิวดาวเคราะห์น้อย 323-370 กิโลเมตร ภาพของอีรอสที่ถ่ายโดยเนียร์แสดงให้เห็นพื้นผิวที่เต็มไปด้วยหลุมจำนวนมาก มีรอยเซาะเป็นร่องอยู่ทั่วไป และยังพบจุดสว่างอีกหลายจุด ลักษณะที่แปลกประหลาดอีกอย่างหนึ่งที่พบบนอีรอสคือส่วนที่คล้ายอานม้าอยู่ตรงกลาง พบว่าส่วนอานม้านี้มีหลุมอยู่เป็นจำนวนน้อย ซึ่งบ่งบอกว่าเป็นบริเวณที่มีอายุน้อย แต่นักดาราศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าลักษณะพื้นผิวเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร 

ภาพจากอีรอสยังแสดงลักษณะที่เป็นชั้น ๆ อยู่ตลอดทั้งดวง ซึ่งอาจเป็นหลักฐานว่าอีรอสเป็นดาวเคราะห์น้อยที่แตกตัวมาจากวัตถุอื่น 

ความแปลกประหลาดอีกอย่างหนึ่งที่พบคือความหนาแน่นของอีรอส ข้อมูลเบื้องต้นจากเนียร์แสดงว่าอีรอสมีความหนาแน่นประมาณ 2.4 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับความหนาแน่นของวัตถุที่เป็นเปลือกโลก ในขณะที่ดาวเคราะห์ Mathilde ที่เนียร์เพิ่งสำรวจไปในปี 2540 มีความหนาแน่นน้อยกว่ามากเพียง 1.3 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตรเท่านั้น 

หลังจากนี้อีกสองเดือน วงโคจรของเนียร์จะถูกปรับให้เข้าสู่วงกลมห่างจากอีรอส 200 กิโลเมตร และในเดือนพฤษภาคมก็จะปรับวงโคจรอีกครั้งจนมีรัศมีวงโคจรเหลือเพียง 50 กิโลเมตร หลังจากที่เข้าสู่วงโคจรระยะใกล้แล้ว เนียร์จะใช้สเปกโทรมิเตอร์รังสีเอกซ์และรังสีแกมมาถ่ายและทำแผนที่แสดงองค์ประกอบทางเคมีของอีรอส และในปลายปีนี้ยานอาจจะเข้าสู่วงโคจรที่ต่ำเพียงไม่กี่กิโลเมตรเพื่อใช้สเปกโทรมิเตอร์อินฟราเรดใกล้สำรวจองค์ประกอบทางเคมีของก้อนหินต่าง ๆ ของอีรอส 

นอกจากนี้ฝ่ายวางแผนของภารกิจกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะให้ยานลงแตะผิวของอีรอสในตอนจบของภารกิจซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2544 

เนียร์นับเป็นยานดวงแรกที่สามารถโคจรรอบดาวเคราะห์น้อยได้ ในขณะที่อีรอสเป็นวัตถุดวงที่ ในระบบสุริยะที่มียานอวกาศไปโคจรรอบ หลังจาก โลก ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ดาวอังคาร ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี 

ติดตามภารกิจของเนียร์ได้จากโฮมเพจ http://near.jhuapl.edu/ 



ภาพนี้ถ่ายที่ระยะ 204 กิโลเมตร ให้ความละเอียดถึง 20 เมตร (หมายความว่าวัตถุที่มีขนาดใหญ่กว่า 20 เมตร ก็จะมองเห็นได้) บริเวณแอ่งมืดขนาดใหญ่บริเวณกลางภาพคือหลุมสามหลุมที่อยู่ติดกัน สองในสามหลุมนี้มีขนาดถึง 4-5 กิโลเมตร บริเวณทางขวาของแอ่งมืดนี้คือ "อานม้า" ซึ่งเป็นบริเวณที่ค่อนข้างราบเรียบกว่าบริเวณอื่น ๆ และปรากฏรอยครูดของก้อนหินเป็นทางเป็นจำนวนมาก หลุมบางหลุมที่อยู่ทางซ้ายบนของดาวเคราะห์น้อยยังมีความสว่างมากผิดปรกติอีกด้วย 

ภาพถ่ายหลุมสามสหายในระยะใกล้ที่ระยะ 204 กิโลเมตร ถ่ายเเมื่อวันที่ 3 มีนาคม

ภาพถ่ายหลุมสามสหายในระยะใกล้ที่ระยะ 204 กิโลเมตร ถ่ายเเมื่อวันที่ 3 มีนาคม

ภาพถ่ายระยะใกล้ของบริเวณ "อานม้า" ที่ระยะ 200 กิโลเมตร

ภาพถ่ายระยะใกล้ของบริเวณ "อานม้า" ที่ระยะ 200 กิโลเมตร

ที่มา: