สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ภารกิจสุดท้ายของลูนาร์พรอสเปกเตอร์

ภารกิจสุดท้ายของลูนาร์พรอสเปกเตอร์

1 มิ.ย. 2542
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ยานลูนาร์พรอสเปกเตอร์จะถึงกำหนดปลดระวางในปลายเดือนกรกฎาคม 2542 นี้ หลังจากที่ปฏิบัติภารกิจสำรวจดวงจันทร์มาเป็นเวลานาน ยานลูนาร์พรอสเปกเตอร์จะพุ่งเข้าชนดวงจันทร์บริเวณขั้วของดวงจันทร์ อันเป็นการจบปฏิบัติการอย่างครึกโครมของโครงการนี้ 

การพุ่งเข้าชนดวงจันทร์ของยานตามที่ทางฝ่ายผู้ควบคุมโครงการกำลังวางแผนนี้ ไม่ใช่การทิ้งยานลงสู่ดวงจันทร์แบบทิ้งขยะอวกาศธรรมดา นักดาราศาสตร์ต้องการให้ยานพุ่งลงสู่บริเวณขั้วดวงจันทร์ ด้วยน้ำหนัก 161 กิโลกรัมของยานจะทำให้เกิดแรงกระแทกที่มีพลังงานเทียบเท่ากับรถเก๋งที่พุ่งชนกำแพงด้วยความเร็ว 1,700 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แรงจากการพุ่งชนจะทำให้เกิดเศษดินฟุ้งกระจายขึ้นมาจนอาจสังเกตได้จากโลก ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถสำรวจสเปกตรัมของดินจากขั้วของดวงจันทร์ได้โดยตรงจากกล้องโทรทรรศน์บนโลก รวมทั้งกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลด้วย การที่นักดาราศาสตร์ต้องการสำรวจดินจากขั้วดวงจันทร์ เนื่องจากดินบริเวณขั้วดวงจันทร์นี้เป็นที่เชื่อกันว่ามีน้ำแข็งปะปนอยู่ 

ขณะนี้ยานลูนาร์พรอสเปกเตอร์อยู่ในช่วงครึ่งหลังของภารกิจภาคพิเศษ ซึ่งจะเสร็จสิ้นลงเมื่อเชื้อเพลิงภายในยานหมดในฤดูร้อนนี้ หลังจากนั้นยานจะถูกแรงดึงดูดของดวงจันทร์ดูดให้ตกลงไป 

เจ้าหน้าที่ควบคุมยานลูนาร์พรอสเปกเตอร์ได้เลือกหลุม มอว์สัน (Mawson) ใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์เป็นเป้าหมายในการพุ่งชนของยาน หลุมนี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 33 กิโลเมตร และเชื่อว่ามีน้ำแข็งอยู่เป็นจำนวนมากที่พื้นของหลุม ตามกำหนดการจากนาซา ยานจะพุ่งชนดวงจันทร์ในวันที่ 31 กรกฎาคม อย่างไรก็ตาม น้ำหนักที่เบาของยานซึ่งหมายถึงพลังงานของการชนที่ต่ำลงไปด้วย ประกอบกับความไม่เที่ยงตรงของการควบคุมตำแหน่งที่จะพุ่งชน อาจทำให้โอกาสที่จะตรวจจับสเปกตรัมของน้ำได้มีไม่มากนัก 

ภาพวาดน้ำแข็งที่อยู่ในหลุมที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ตามจินตนาการของจิตรกร

ภาพวาดน้ำแข็งที่อยู่ในหลุมที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์ตามจินตนาการของจิตรกร

ที่มา: