สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ฮับเบิลพบดาวหางพุ่งใส่ดาวฤกษ์แม่

ฮับเบิลพบดาวหางพุ่งใส่ดาวฤกษ์แม่

27 ม.ค. 2560
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ดาวเคราะห์ต่างระบบก็พบกันเยอะแล้ว ดาวหางต่างระบบก็พบมาแล้ว คราวนี้นักดาราศาสตร์ถึงกับพบดาวหางต่างระบบพุ่งชนดาวฤกษ์แม่เลย

เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา องค์การนาซาแถลงว่า กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลได้ค้นพบสิ่งที่ดูคล้ายกับดาวหางพุ่งเข้าชนดาวฤกษ์ที่ชื่อ เอชดี 172555 (HD 172555) ดาวฤกษ์ดวงนี้อยู่ห่างจากโลก 95 ปีแสงในกลุ่มดาวนกยูง เป็นดาวอายุน้อยมากเพียง 23 ล้านปี 

กล้องฮับเบิลไม่ได้มองเห็นดาวหางได้โดยตรงเนื่องจากดาวหางจางมาก นักดาราศาสตร์เพียงสันนิษฐานเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นดาวหางจากหลักฐานเป็นแก๊สจำนวนมหาศาลที่อาจจะคายออกมาจากวัตถุจำพวกน้ำแข็ง

หากการสันนิษฐานของนักดาราศาสตร์ถูกต้อง ดาวเอชดี 172555 ก็จะเป็นระบบสุริยะต่างถิ่นแห่งที่สามที่พบว่ามีดาวหางพุ่งเข้าชนดาว ซึ่งระบบสุริยะทั้งสามระบบนี้ล้วนแต่เป็นระบบสุริยะวัยเยาว์อายุต่ำกว่า 40 ล้านปีทั้งสิ้น

ปกติดาวหางมีวงโคจรรอบดาวฤกษ์ ไม่พุ่งชนดาวฤกษ์ การที่เกิดดาวหางพุ่งชนดาวฤกษ์ แสดงว่าดาวหางนั้นต้องถูกรบกวนโดยแรงดึงดูดจากวัตถุขนาดใหญ่ในระบบจนทำให้เส้นทางการโคจรเบี่ยงเบนออกจากวงโคจรจนมาพุ่งชนดาวฤกษ์ วัตถุขนาดใหญ่ที่มารบกวนนั้นก็น่าจะเป็นดาวเคราะห์ยักษ์ ดังนั้นนักดาราศาสตร์เชื่อว่าในระบบสุริยะของดาวเอชดี 172555 นี้จะต้องมีดาวเคราะห์ขนาดใหญ่แบบดาวพฤหัสบดีอยู่ด้วย 

กระบวนการเช่นนี้ก็เกิดขึ้นในระบบสุริยะของเราก็เช่นเดียวกัน ดาวพฤหัสบดีส่งแรงดึงดูดรบกวนให้ดาวหางเบี่ยงเบนเข้าหาดวงอาทิตย์ ปัจจุบันมีดาวหางจำนวนหนึ่งที่เรียกว่า ดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์ (sun-grazing comet) ดาวหางกลุ่มนี้บางครั้งก็พุ่งเข้าใส่ดวงอาทิตย์จนแตกสลายไป ซึ่งหอสังเกตการณ์โซโฮถ่ายภาพการพุ่งชนนี้ได้เสมอ 

ดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์

"การได้เห็นดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะของเราและในระบบสุริยะต่างถิ่นอีกสามแห่ง อาจหมายความว่าดาวหางพุ่งชนดาวฤกษ์เป็นเรื่องปกติของระบบสุริยะอายุน้อย บางครั้งดาวหางก็พุ่งชนดาวเคราะห์ชั้นในพร้อมกับทิ้งน้ำจำนวนมหาศาลเอาไว้ สิ่งนี้อาจเคยเกิดขึ้นกับโลกในยุคเริ่มต้นเช่นกัน ดาวหางนี่เองที่อาจเป็นเป็นต้นกำเนิดน้ำบนโลก และอาจเป็นผู้นำสารอินทรีย์ที่เป็นต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตมายังโลกอีกด้วย" แครอล เกรดี จากศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ดอธิบาย

เกรดีมีแผนที่จะศึกษาระบบสุริยะเหล่านี้ต่อเพื่อค้นหาหลักฐานของออกซิเจนกับไฮโดรเจน ซึ่งจะช่วยยืนยันได้อีกขั้นหนึ่งว่าวัตถุที่แตกสลายและคายแก๊สออกมานั้นเป็นดาวหางจริงหรือไม่

ภาพในจินตนาการของศิลปินของระบบสุริยะของดาวเอชดี <wbr>172555 <wbr>ฝูงดาวหางถูกแรงรบกวนจากดาวเคราะห์ยักษ์จนเบี่ยงทิศทางพุ่งเข้าชนดาวฤกษ์<br />
<br />

ภาพในจินตนาการของศิลปินของระบบสุริยะของดาวเอชดี 172555 ฝูงดาวหางถูกแรงรบกวนจากดาวเคราะห์ยักษ์จนเบี่ยงทิศทางพุ่งเข้าชนดาวฤกษ์

(จาก Hubblesite, NASA, ESA, and A. Feild and G. Bacon (STScI))

ที่มา: