สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สะเก็ดข่าวดาราศาสตร์

11 ต.ค. 49

จอร์จ สมูต จากห้องทดลองแห่งชาติลอว์เรนซ์เบิร์กเลย์ และ จอห์น แมเทอร์ จากศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ดของนาซา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปี 2549 ร่วมกัน ทั้งสองคนนี้มีบทบาทในสร้างเครื่องมือสำหรับศึกษารังสีพื้นหลังเอกภพที่ใช้ในดาวเทียมโคบี (COBE)

17 ก.ย. 49

ยานนิวเฮอไรซอนส์ ยานสำรวจพลูโต ซึ่งอยู่ในระหว่างการเดินทาง ได้เปิดฝาครอบกล้องเพื่อรับแสงแรกจากอวกาศเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา ภาพแรกที่ถ่ายคือ กระจุกดาวเอ็ม 7 ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2550 นิวเฮอไรซอนส์จะถ่ายภาพสำคัญอีกภาพหนึ่งคือดาวพฤหัสบดีและบริวาร

17 ก.ย. 49

ยานมาร์สรีคอนเนสเซนซ์ออร์บิเตอร์ ได้ประสบความสำเร็จในการปรับวงโคจรเป็นรอบสุดท้ายเมื่อวันจันทร์ที่ 10 ที่ผ่านมา ขณะนี้ยานโคจรรอบดาวอังคารในแนวเหนือใต้ด้วยความสูงจากพื้นดิน 250 กิโลเมตรถึง 316 กิโลเมตร

22 ส.ค. 49

ยานวอยเอเจอร์ 1 ได้ไปถึงระยะ 100 หน่วยดาราศาสตร์จากดวงอาทิตย์แล้ว เป็นวัตถุมนุษย์สร้างที่เดินทางไกลที่สุด ส่วนยานวอยเอเจอร์ 2 ยานน้องของวอยเอเจอร์ 1 ขณะนี้อยู่ที่ระยะ 80 หน่วยดาราศาสตร์ ยังตามหลังอยู่ 6 ปี

18 ส.ค. 49

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา กล้องโซโฮตรวจพบจุดมืดบนดวงอาทิตย์คู่หนึ่งที่มีขั้วตรงข้ามกับจุดอื่น คงสภาพอยู่นานราวสามชั่วโมงแล้วจึงสลายไป จุดนี้อาจเป็นสัญญาณบอกว่า รอบใหม่ของวัฏจักรสุริยะกำลังจะเริ่มขึ้น

30 ก.ค. 49

โคลัมบัส ซึ่งเป็นหน่วยหลักของฝ่ายยุโรปของสถานีอวกาศนานาชาติ ได้ส่งไปถึงศูนย์อวกาศเคนเนดีแล้วเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม พร้อมจะเดินทางขึ้นไปประกอบกับสถานีในปลายปีหน้า หน่วยโคลัมบัสมีน้ำหนัก 16.4 ตัน จะมีอายุการใช้งาน 10 ปี มีภารกิจในการทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ถึง 500 การทดลอง ทั้งทางด้านชีววิทยา การผลิตวัสดุ วิทยาศาสตร์ของไหล และหลักฟิสิกส์

24 มิ.ย. 49

สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลได้ตั้งชื่อสามัญให้แก่บริวารสองดวงของดาวพลูโตที่เพิ่งพบใหม่เมื่อปีอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ดวงจันทร์ เอส/2005 พี 2 (S/2005 P2) ได้ชื่อว่า นิกซ์ (Nix) ส่วน เอส/2005 พี 1 (S/2005 P1) ได้ชื่อว่า ไฮดรา (Hydra)

15 มิ.ย. 49

นายนาจิบ ตุน ราซะก์ รองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวขณะไปเยือนอินเดียว่า มาเลเซียและอินเดียกำลังจะมีข้อตกลงและความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีอวกาศหลายด้าน รวมถึงการร่วมงานในองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO-India Space Research Organaization) และการร่วมมือทางเทคโนโลยีอวกาศเพื่อความมั่นคงด้วย

15 พ.ค. 49

เวียดนามได้ลงนามในสัญญากับลอกฮีดมาร์ตินในการสร้างดาวเทียมสื่อสารดวงแรกของประเทศ ชื่อ วีนาแซต 1 มูลค่า 168 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าจะขึ้นสู่อวกาศได้ในครึ่งปีแรกของปี 2551

13 พ.ค. 49

แม้โครงการส่งมนุษย์ไปสำรวจดาวอังคารของนาซาจะยังอยู่ในม่านหมอก แต่ชุดอวกาศสำหรับนักบินเที่ยวแรกพร้อมแล้ว เอ็นดีเอสจีซี (NDSGC--North Dakota Space Grant Consortium) ซึ่งได้รับมอบหมายจากนาซาเพื่อออกแบบและสร้างชุดต้นแบบ ได้ทดสอบการใช้งานภาคสนาม เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งด้านการเคลื่อนไหว การสื่อสาร และความสะดวกใช้

12 พ.ค. 49

ดาวเทียมอิเมจ (IMAGE) ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจสนามแม่เหล็กโลกของนาซายังคงไม่ตอบรับการสื่อสารใด ๆ กับโลกนับตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคมปีที่แล้ว ความหวังเดียวของนักวิทยาศาสตร์ที่จะคืนชีพให้อิเมจคือ รอจนถึงเดือนตุลาคม 2550 เมื่อดาวเทียมเข้าไปในเงามืดของโลก ไฟฟ้าของดาวเทียมจะดับหมดและทั้งระบบจะเริ่มทำงานอีกครั้งเมื่อพ้นเงามืดออกมา เหมือนเป็นการกดปุ่มรีเซ็ตตัวเอง

11 พ.ค. 49

วอร์เรน บราวน์ จากศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ฮาร์วาร์ด-สมิทโซเนียน พบดาวฤกษ์สองดวงที่มีความเร็วสูงเป็นพิเศษ ดวงหนึ่งมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 4 เท่า อยู่ห่างออกไป 240,000 ปีแสง กำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 2 ล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง อีกดวงหนึ่ง อยู่ห่างออกไป 180,000 ปีแสงและเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 2.3 ล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วของดาวสองดวงนี้สูงมากจนสามารถหลุดออกไปจากทางช้างเผือกได้ตลอดกาล

9 พ.ค. 49

นาซาวางแผนที่จะปลดระวางยานขนส่งอวกาศแอตแลนติสในราวกลางปี 2551 หลังจากนั้นก็จะถูกถอดชิ้นส่วนเพื่อเป็นอะไหล่ให้ยานอีกสองลำที่เหลือ นั่นคือ ยานดิสคัฟเวอรีและเอนดิฟเวอร์ซึ่งจะสานต่อภารกิจก่อสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ อย่างไรก็ตามกองยานขนส่งอวกาศทั้งหมดจะปลดระวางในปี 2553 และหลังจากนั้นก็จะเป็นยุคของยานขนส่งยุคใหม่ชื่อ ครูว์ลอนช์เวียเคิลและครูว์เอกซ์พลอเรชันเวียเคิล ซึ่งจะพร้อมประจำการได้ราวปี 2557

4 พ.ค. 49

กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์สำรวจพบบริเวณกำเนิดดาวเคราะห์ใหม่รอบพัลซาร์ 4U 0142+61 ซึ่งห่างจากโลก 13,000 ปีแสง การค้นพบนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่พบว่าพัลซาร์มีดาวเคราะห์ ก่อนหน้านี้เคยมีการพบพัลซาร์ที่มีดาวเคราะห์ถึงสามดวง นี่อาจแสดงว่าดาวเคราะห์รอบพัลซาร์อาจเป็นเรื่องปกติ

4 พ.ค. 49

เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา นาซาและอีซาได้จัดงานฉลองครบรอบ 16 ขวบสำหรับกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลด้วยการเผยแพร่ภาพของดาราจักรเอ็ม 82 ที่ถ่ายโดยกล้องฮับเบิล

4 พ.ค. 49

กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์สำรวจพบบริเวณกำเนิดดาวเคราะห์ใหม่รอบพัลซาร์ 4U 0142+61 ซึ่งห่างจากโลก 13,000 ปีแสง การค้นพบนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่พบว่าพัลซาร์มีดาวเคราะห์ ก่อนหน้านี้เคยมีการพบพัลซาร์ที่มีดาวเคราะห์ถึงสามดวง นี่อาจแสดงว่าดาวเคราะห์รอบพัลซาร์อาจเป็นเรื่องปกติ

28 ก.พ. 49

ท้องฟ้าจำลองลอนดอน ซึ่งเปิดมานานกว่า 50 ปี จะปิดบริการในเดือนกรกฎาคมนี้เพื่อเปิดทางให้สถานบันเทิงที่จะมาแทนที่

21 ก.พ. 49

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ หลังจากที่ยานวีนัสเอกซ์เพรสทะยานขึ้นจากโลกได้ 100 วัน ได้ทดสอบจุดเครื่องยนต์ไอออนเป็นเวลา 3 วินาที การทดสอบผ่านไปได้ด้วยดี เครื่องยนต์ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ และทำให้ยานมีความเร็วเพิ่มขึ้นอีก 3 เมตรต่อวินาที ยานจะเปิดเครื่องยนต์อีกครั้งในเดือนเมษายนเพื่อปรับเส้นทางเข้าสู่วงโคจรรอบดาวศุกร์

21 ก.พ. 49

แฟรงค์ แบร์โทลดี จากมหาวิทยาลัยบอนน์ ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุเอ็มอาร์เอขนาด 30 เมตรในสเปนสำรวจวัตถุ 2003 ยูบี 313 ให้ผลยืนยันว่า วัตถุดวงนี้ใหญ่กว่าดาวพลูโตจริง คาดว่ามีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3,000 กิโลเมตร ใหญ่กว่าดาวพลูโต 700 กิโลเมตร

30 ธ.ค. 48

กล้องวีแอลทีขององค์การอีโซ (ESO) ค้นพบแหวนไอน์สไตน์วงใหม่ มีชื่อว่า เอฟโออาร์ เจ 0332-3557 (FOR J0332-3557) วัตถุเบื้องหน้าคือดาราจักรรีขนาด 40,000 ปีแสง อยู่ห่างจากโลก 8,000 ล้านปีแสง ส่วนวัตถุเบื้องหลัง (ที่ภาพถูกเบนเป็นเส้นโค้ง) เป็นดาราจักรขนาดเล็กอยู่ห่างออกไปถึง 12,000 ล้านปีแสง นับเป็นแหวนไอนส์ไตน์ที่อยู่ไกลที่สุดเท่าที่รู้จัก