สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สะเก็ดข่าวดาราศาสตร์

2 ต.ค. 45

นักดาราศาสตร์จากศูนย์ดาราฟิสิกส์ฮาร์วาร์ด-สมิทโซเนียน ได้ค้นพบวัตถุที่คาดว่าเป็นดวงจันทร์บริวารดาวยูเรนัสดวงใหม่ วัตถุนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7-19 กิโลเมตร วงโคจรมีระยะครึ่งแกนเอก 8.5 ล้านกิโลเมตร

7 ก.ย. 45

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2545 กล้องโทรทรรศน์อัตโนมัตของลิเนียร์ได้ค้นพบดาวหางดวงใหม่ พร้อมกัน 2 ดวงภายในภาพ ๆ เดียว ดาวหางสองดวงนี้มีชื่อว่า C/2002 Q2 และ C/2002 Q3 มีวงโคจรเกือบเหมือนกัน จึงเชื่อว่าสองดวงนี้มีความสัมพันธ์กัน ขณะค้นพบ ดาวหางสองดวงนี้อยู่ห่างกันเพียง 2 ล้านกิโลเมตร

7 ก.ย. 45

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลุยเซียนาสเตตได้พบหลักฐานของการถูกลูกอุกกาบาตชนครั้งใหญ่และดั้งเดิมที่สุดของโลก จากหลักฐานของชั้นหินที่พบในแอฟริกาใต้และทวีปออสเตรเลีย การชนในครั้งนั้นมีความรุนแรงมากกว่าการชนที่เม็กซิโกที่เชื่อว่าทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ราว 10-100 เท่า คาดว่าการชนในครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อราว 3.47 พันล้านปีที่แล้ว และส่งผลให้เกิดการเลื่อนตัวของแผ่นทวีปมาจนถึงปัจจุบันนี้

13 ส.ค. 45

นักดาราศาสตร์จากศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ดพบว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา สัญฐานโลกของเรามีการป่องออกทางเส้นศูนย์สูตรมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะที่ยุโรปตอนเหนือและแคนาดา ทั้งที่ก่อนหน้านี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงโดยป่องออกทางขั้วโลกมาเป็นเวลาถึง 25 ปี

13 ส.ค. 45

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา ยานสตาร์ดัสต์เริ่มปฏิบัติการเก็บฝุ่นอีกครั้ง โดยยืดแผงจับฝุ่นที่ทำจากแอโรเจลรูปรังผึ้งออกไป ทิศทางของุ่งฝุ่นที่เก็บในครั้งนี้คือฝุ่นที่มาจากชุมนุมดาวแมงป่อง-คนครึ่งม้า ซึ่งประกอบด้วยดาวที่เกิดใหม่เป็นจำนวนมาก การเก็บฝุ่นในครั้งนี้จะกินระยะเวลานาน 4 เดือน สตาร์ดัสต์ยังเหลือแผงกักฝุ่นอีกชุดหนึ่งซึ่งจะใช้ในการเก็บฝุ่นของดาวหาง วีลด์ 2 ในปี 2547

16 ก.ค. 45

สภาวิจัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ได้แถลงว่า โครงการสำรวจที่นาซาควรให้ความสำคัญสูงสุดในขณะนี้คือโครงการส่งยานอวกาศไปสำรวจวัตถุไคเปอร์และพลูโต เหนือกว่าโครงการสำรวจยูโรปาที่เคยจัดเป็นโครงการสำคัญที่สุดมาก่อน

24 มิ.ย. 45

กล้องโทรทรรศน์วิทยุจากเกาะคานารี และเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุซีบีไอในชิลีได้สำรวจรังสีพื้นหลังของเอกภพด้วยความละเอียดและความไวสุดยอดถึง 1/10,000 องศาเซลเซียส และพบว่าเอกภพประกอบด้วยวัตถุมืดเป็นส่วนใหญ่จริง และยังสนับสนุนได้ว่าเอกภพกำลังขยายตัวแบบเร่งอยู่

1 มิ.ย. 45

นักดาราศาสตร์จากคาลเทคได้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยคู่อีกคู่หนึ่ง ดาวเคราะห์น้อยคู่ใหม่นี้คือ 2000 DP107 ซึ่งได้เข้าใกล้โลกเมื่อ 18 เดือนที่แล้ว จากการสำรวจโดยกล้องโทรทรรศน์วิทยุเอริซิโบ พบว่าทั้งสองดวงนี้มีขนาด 300 เมตร และ 800 เมตร อยู่ห่างกัน 2.6 กิโลเมตร มีความหนาแน่นต่ำมากเพียง 1.7 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร นักดาราศาสตร์เชื่อว่าประมาณ 1 ใน 6 ของดาวเคราะห์น้อยทั้งหมดเป็นดาวเคราะห์น้อยคู่

1 มิ.ย. 45

หอสังเกตการณ์แอร์ชาวเวอร์อาเรย์ยักษ์อะเกโนะของญี่ปุ่นตรวจพบอนุภาคพลังงานสูงยิ่งยวด (UHECR) ที่มีทิศทางมาจากดาราจักร NGC 3610, NGC 3613, NGC 4589 และ NGC 5322 อนุภาคเหล่านี้มีพลังงานมากนับร้อยล้านทรีาอิเล็กตรอนโวลต์ คาดว่าพลังงานมหาศาลนี้เกิดขึ้นจากการเร่งโดยสนามแม่เหล็กที่เกิดจากการหมุนตัวของหลุมดำยักษ์ที่อยู่ในใจกลางดาราจักร

15 พ.ค. 45

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลุยเซียนาได้ค้นพบโมเลกุลของเพชรอยู่ท่ามกลางฝุ่นที่ล้อมรอบดาวที่เพิ่งเกิดใหม่ดวงหนึ่ง เพชรในอวกาศเหล่านี้เกิดขึ้นจากความร้อนและความดันสูงยิ่งยวดของซูเปอร์โนวาในอดีต เชื่อว่าในดาราจักรทางช้างเผือกมีเพชรอยู่นับล้านล้านล้านล้านตัน

17 เม.ย. 45

โอเฟอร์ ลาฮาฟ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และคณะ ได้ใช้ข้อมูลการสำรวจดาราจักรราว 220,000 ดาราจักรจากโครงการสำรวจ 2 องศา (2dF--Two-Degree Field Galaxy Redshift Survey) เปรียบเทียบกับแบบจำลองที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์ ได้ข้อสรุปว่า สสารมืดมีผลต่อความสว่างของดาราจักร กล่าวคือดาราจักรที่มีสสารมืดมากจะมีความสว่างมากกว่าดาราจักรที่มีสสารมืดน้อย

13 เม.ย. 45

ยูจิ เฮียะกุตาเกะ นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชื่อดัง ผู้ค้นพบดาวหางเฮียะกุตาเกะ เสียชีวิตแล้วเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมาด้วยโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง รวมอายุได้ 51 ปี

30 มี.ค. 45

นักดาราศาสตร์จากยุโรปและอเมริกาได้พบดาวคู่ที่โคจรรอบกันเองเร็วที่สุดเท่าที่เคยพบมา ดาวคู่นี้คือ RX J0806+1527 เป็นแหล่งกำเนิดรังสีเอกซ์ที่ประกอบด้วยดาวแคระขาวสองดวง อยู่ห่างกันเพียง 80,000 กิโลเมตร โคจรรอบกันเองด้วยคาบเพียง 321 วินาที

29 มี.ค. 45

คารล์ กลาซีบรูก และอีวาน บอลดรี ได้พยายามหาสีที่แท้จริงของเอกภพโดยการนำแสงจากดาราจักรจำนวน 200,000 ดาราจักรมาหาค่าเฉลี่ยแล้วเพิ่มความเข้ม ผลการคำนวณปรากฏว่า เอกภพมีสีครีม-เหลือง ก่อนหน้านี้ทั้งคู่เคยเปิดเผยผลการคำนวณมาครั้งหนึ่งว่าเอกภพมีสีเขียวอมเทา แต่ต่อมาได้พบข้อบกพร่องในโปรแกรมที่ใช้ในการคำนวณ เมื่อแก้ไขและคำนวณใหม่แล้วจึงได้ผลลัพท์ที่เปลี่ยนไปดังกล่าว

11 ก.พ. 45

นักดาราศาสตร์ได้พบลูกอุกกาบาตจากดาวอังคารเพิ่มขึ้นอีก 5 ลูก เพิ่มสถิติลูกอุกกาบาตจากดาวอังคารเป็น 24 ลูกแล้ว

7 ก.พ. 45

โครงการสร้างยานพลูโต-ไคเปอร์เอกเพรสของนาซาถูกยกเลิกไปอีกครั้ง เมื่อปีงบประมาณสำหรับนาซาในปี 2546 เกือบทั้งหมดทุ่มเทให้กับการสำหรับการสำรวจดาวอังคารและยูโรปา โดยตัดโครงการสำรวจพลูโตออกไปโดยสิ้นเชิง

30 ม.ค. 45

ยานกาลิเลโอได้เฉียดเข้าใกล้ไอโอเมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา นับเป็นการเฉียดไอโอครั้งสุดท้ายของยาน แต่คอมพิวเตอร์ของยานเกิดรีเซตในช่วงที่ยานเข้าใกล้ที่สุด จึงไม่ได้ภาพอะไรกลับมา

30 ม.ค. 45

เฟม โครงการดาวเทียมวัดตำแหน่งดาวฤกษ์ของนาซา ต้องสิ้นชื่อแล้วหลังจากที่นาซายกเลิกโครงการเนื่องจากงบประมาณไม่พอ

5 ธ.ค. 44

เลโอนาร์ด แอมเบอร์กีย์ นักดาราศาสตร์สมัครเล่นและครูจากฟิตชเบิร์ก แมสซาจูเซตตส์ ได้รับรางวัลเบนสัน จากการค้นพบดาวเคราะห์น้อย 2000 NM ในปี 2543

5 ธ.ค. 44

คณะนักดาราศาสตร์นำโดยเลนนาท นอร์ด จากหอสังเกตการณ์สต็อกโฮล์มในสวีเดน ได้ค้นพบดาวแคระน้ำตาล 30 ดวงในเนบิวลา โร คนแบกงู ดาวแคระน้ำตาลเหล่านี้มีอายุเฉลี่ยประมาณ 1 ล้านปี จึงมีความสว่างกว่า หาได้ง่ายกว่า และศึกษาได้ง่ายกว่าดาวแคระน้ำตาลที่มีอายุมาก ๆ