สมาคมดาราศาสตร์ไทย

สะเก็ดข่าวดาราศาสตร์

26 ก.ย. 43

องค์การอวกาศญี่ปุ่นรายงานเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมาว่า ความพยายามในการกู้ยานเอเอสซีเอ (ASCA--Advanced Satellite for Cosmology and Astrophysics) ถือว่าล้มเหลวเกือบสิ้นเชิง คาดว่าจะต้องทิ้งดาวเทียมลำนี้ให้ตกลงสู่โลกในปีหน้า

13 ก.ย. 43

กล้องโทรทรรศน์วีแอลที (VLT-Very Large Telescope) ได้สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว กล้องตัวสุดท้ายจากจำนวน 4 ตัวได้ประเดิมรับแสงแรกเมื่อคืนวันที่ 3-4 กันยายนโดยการถ่ายภาพของเนบิวลา Hen 2-428 กล้องวีแอลทีประกอบด้วยกล้องสะท้อนแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8.2 เมตร 4 ตัว รวมพื้นที่รับแสงแล้วมากกว่า 210 ตารางเมตร

4 ก.ย. 43

จีนประสบความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียมวายแซต-2 ซึ่งเป็นดาวเทียมรีโมตเซนซิง เมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา

28 ส.ค. 43

โมโตโรลา ยืนยันที่จะทิ้งดาวเทียมอิริเดียมทั้งหมด หลังจากการหาผู้สนับสนุนซื้อต่อล้มเหลว

28 ส.ค. 43

กล้องโทรทรรศน์อวกาศอินฟราเรดของนาซาชื่อ SIRTF (Space Infrared Telescope Facility) ที่มีกำหนดปล่อยในเดือนธันวาคม ปี 2544 ต้องเลื่อนออกไปอีกไม่น้อยกว่า 7 เดือนเนื่องจากพบปัญหากับกล้องอินฟราเรด

21 ส.ค. 43

โรเบิร์ต จิลรัท นักวิทยาศาสตร์ของนาซา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการแข่งขันสู่ดวงจันทร์ในทศวรรษ 1960 ได้เสียชีวิตแล้วด้วยวัย 86 ปี

21 ส.ค. 43

อลัน แซนเดจ จากหอสังเกตการณ์สถาบันคาร์เนกี และ ฟิลลิป เจ. อี. พีเบิลส์ จากมหาวิทยาลัยพรินเซตัน ได้รับรางวัลจักรวาลวิทยา (Cosmology Prize) ของมูลนิธิ ปีเตอร์ กรูเบอร์ รางวัลนี้เป็นรางวัลที่ตั้งขึ้นใหม่ มอบให้นักดาราศาสตร์ที่ทุ่มเทให้กับงานทางจักรวาลวิทยาทุก ๆ ปี รางวัลคือ เงินมูลค่า 150,000 เหรียญสหรัฐ

14 ส.ค. 43

ในที่ประชุมสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ได้มีการหยั่งประชามติอีกครั้งว่า จะถือว่าดาวพลูโตเป็นดาวเคราะห์ต่อไปอีกหรือไม่ หรือจะให้เป็นวัตถุกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า Trans-Neptunian Object ผลการลงประชามติยังคงเหมือนเดิมคือ ให้พลูโตเป็นทั้งสองอย่าง

7 ส.ค. 43

ยานเนียร์ได้เปลี่ยนวงโคจรจากระดับ 20 กิโลเมตรขึ้นมาเป็น 50 กิโลเมตรเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา

10 ก.ค. 43

ยานอวกาศดีปสเปซ 1 สามารถจุดจรวดไอออนของยานได้อีกครั้งหนึ่งหลังจากที่นิ่งเงียบไปนานกว่า 7 เดือนเนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับตัวตามตำแหน่งดาว ศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินได้แก้ปัญหาโดยอัปโหลดโปรแกรมขึ้นไปบนยานใหม่เพื่อแปลงให้กล้องสำรวจตัวหนึ่งของยานทำงานเป็นตัวติดตามตำแหน่งดาวแทน ยานจึงกลับมาใช้งานได้ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

12 มิ.ย. 43

อุปกรณ์สเปกโทรมิเตอร์อินฟราเรดใกล้ของยานอวกาศเนียร์มีอาการผิดปรกติ และจนถึงบัดนี้เจ้าหน้าที่ยังแก้ไขหรือวิเคราะห์อาการไม่ได้ จึงต้องปิดอุปกรณ์ตัวนี้ไปอย่างไม่มีกำหนด ก่อนหน้านี้อุปกรณ์สเปกโทรมิเตอร์รังสีเอกซ์และรังสีแกมมาของยานนี้ก็เคยมีปัญหาและชัตดาวน์อย่างไม่มีสาเหตุมาแล้วเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม แต่ในครั้งนั้นอุปกรณ์ทั้งสองสามารถกลับมาทำงานได้ตามปรกติ

7 มิ.ย. 43

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน RadioShack ยักษ์ใหญ่ผู้ค้าปลีกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะเป็นสปอนเซอร์ในการสร้างยานท่องดวงจันทร์ชื่อ Moon Rover ให้กับ LunarCorp

6 มิ.ย. 43

นักดาราศาสตร์จากองค์การอวกาศยุโรปสามารถวัดอุณหภูมิพื้นผิวของดาวพลูโตได้เป็นครั้งแรก โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมไอเอสโอ พบว่าอุณหภูมิของดาวพลูโตเปลี่ยนแปลงอยู่ในช่วง 35 ถึง 65 เคลวิน (-238 ถึง -208 องศาเซลเซียส) บริเวณที่เย็นที่สุดคือส่วนที่สว่างที่สุด ส่วนบริเวณที่มืดที่สุดก็มักจะอุ่นที่สุด

30 พ.ค. 43

บริษัทลูนาร์คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจท่องเที่ยวบนดวงจันทร์ แจ้งว่าจะส่งยานไปลงจอดที่ขั้วดวงจันทร์ได้ในปี 2546

26 พ.ค. 43

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเอ็นจีเอสที (NGST--Next Generation Space Telescope) ได้ผ่านการออกแบบเบื้องต้นแล้ว กล้องตัวนี้มีความไวสูงกว่าฮับเบิลถึง 100 เท่า ได้รับการวางตัวให้เป็นทายาทของกล้องฮับเบิลในทศวรรษหน้า คาดว่าจะขึ้นสู่อวกาศได้ราวปี 2552

8 พ.ค. 43

ยานสตาร์ดัสต์ได้เสร็จสิ้นปฏิบัติการเก็บฝุ่นในรอบแรกแล้วเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตัวเก็บฝุ่นได้ถูกพับเก็บเข้าที่เรียบร้อยและจะถูกกางออกเพื่อเก็บฝุ่นอีกครั้งในกลางปี 2545

8 พ.ค. 43

โครงการมาร์สแซมเปิลรีเทิร์นของนาซาที่มีกำหนดขึ้นสู่อวกาศในปี 2546 อาจต้องถูกเลื่อนออกไปอีกไม่น้อยกว่า 6 ปี .... SpaceViews, Issue 2000.19, 2000 May 8, http://www.spaceviews.com/2000/0508/ ยานเนียร์ ชูเมกเกอร์ ได้ปรับวงโคจรรอบดาวเคราะห์น้อยอีรอสอีกครั้งเมื่อวันที่ 30 เมษายน ขณะนี้โคจรด้วยรัศมีเพียง 50 กิโลเมตรเท่านั้น

8 พ.ค. 43

คอมพิวเตอร์ของนาซาจำนวนมากได้ติดไวรัส ILOVEYOU หรือ Love Bug เหมือนกัน โดยเฉพาะที่ศูนย์การบินอวกาศจอห์นสันเป็นหน่วยที่เสียหายมากที่สุด โดยเว็บไซต์และระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ของที่นี่มีปัญหาไปเกือบสองวัน

6 พ.ค. 43

ยานสำรวจดวงจันทร์ยูโรปาที่ชื่อ "ยูโรปาออร์บิเตอร์" ของนาซาถูกเลื่อนกำหนดปล่อยจากเดิมในปี 2546 ไปอีกกว่า 26 เดือน

6 พ.ค. 43

เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 30 ปีที่ "ตง ฟัง หง 1" ดาวเทียมดวงแรกของจีนขึ้นสู่อวกาศ ขณะนี้จีนกำลังมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศของตนเพื่อส่งมนุษย์ขึ้นไปสำรวจอวกาศ ซึ่งอาจจะสำเร็จภายในปีหน้า