สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เคปเลอร์ค้นพบดาวเคราะห์ขนาดเท่าโลกครั้งแรก

เคปเลอร์ค้นพบดาวเคราะห์ขนาดเท่าโลกครั้งแรก

The discovery marks the next important milestone in the ultimate search for planets like Earth.

28 ธ.ค. 2554
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ของนาซา ได้บรรลุเป้าหมายสำคัญของภารกิจด้วยการค้นพบดาวเคราะห์ขนาดเท่าโลกโคจรรอบดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรก 
ดาวเคราะห์ที่พบ มีชื่อว่า เคปเลอร์-20 อี (Kepler-20e) และ เคปเลอร์-20 เอฟ (Kepler-20f) แม้ดาวเคราะห์ทั้งสองดวงนี้อยู่ใกล้ดาวฤกษ์แม่มากเกินกว่าที่จะทำให้มีน้ำในสถานะของเหลวอยู่บนพื้นผิวได้ แต่ก็ถือว่าเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นที่โคจรรอบดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ที่เล็กที่สุดเท่าที่เคยพบมา 
การค้นพบครั้งนี้เป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญของความพยายามค้นหาดาวเคราะห์คล้ายโลกในระบบสุริยะอื่น ดาวเคราะห์ที่พบในครั้งนี้คาดว่าเป็นดาวเคราะห์หิน เคปเลอร์-20 อี เล็กกว่าดาวศุกร์เล็กน้อย มีรัศมีประมาณ 0.87 เท่าของโลก ส่วนเคปเลอร์-20 เอฟ ใหญ่กว่าโลกเล็กน้อย มีรัศมีประมาณ 1.03 เท่าของโลก เป็นบริวารของดาว เคปเลอร์-20 (Kepler-20) ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 1,000 ปีแสงในทิศทางของกลุ่มดาวพิณ
ดาวเคปเลอร์-20 อี โคจรรอบดาวฤกษ์แม่ครบรอบทุก 6.1 วัน ส่วนเคปเลอร์-20 เอฟ โคจรรอบดาวฤกษ์แม่ครบรอบทุก 19.6 วัน คาบที่สั้นมากเช่นนี้แสดงว่าดาวฤกษ์จะต้องมีวงโคจรเล็กมาก ซึ่งทำให้ดาวร้อนมาก ดาวเคปเลอร์-20 เอฟ มีอุณหภูมิ 427 องศาเซลเซียส ซึ่งใกล้เคียงกับดาวพุธ ส่วนเคปเลอร์-20 อี อุณหภูมิทะลุถึง 760 องศาเซลเซียส ที่แม้แต่แก้วก็ยังละลาย นั่นหมายความว่าตัดประเด็นสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์สองดวงนี้ไปได้
เป้าหมายหลักของภารกิจเคปเลอร์คือการค้นหาดาวเคราะห์ขนาดเท่าโลก ดังนั้นการค้นพบในครั้งนี้จึงเป็นการประกาศความสำเร็จ และเป็นการแสดงให้เห็นว่ากล้องเคปเลอร์มีศักยภาพสูงเพียงใด 
นอกจากสองดวงนี้แล้ว ยังมีดาวเคราะห์อีกสามดวงที่อยู่ในครอบครัวดาวเคราะห์ของเคปเลอร์-20 อีกสามดวงที่เหลือมีขนาดใหญ่กว่ามาก แต่ยังเล็กกว่าดาวเนปจูน ดาวเคปเลอร์-20 บี อยู่ใกล้ดาวฤกษ์ที่สุด เคปเลอร์-20 ซี และ เคปเลอร์-20 ดี มีคาบการโคจร 3.7, 10.9 และ 77.6 วันตามลำดับ ทั้งห้าดวงนี้มีรัศมีวงโคจรเล็กกว่าของดาวพุธ ส่วนตัวดาวฤกษ์เป็นดาวชนิดสเปกตรัมจี เช่นเดียวกับดวงอาทิตย์ แต่เล็กกว่าและอุณหภูมิต่ำกว่าเล็กน้อย
ความน่าสนใจอีกอย่างของระบบสุริยะแห่งนี้คือ การเรียงลำดับดาวเคราะห์ที่ดูค่อนข้างแปลกประหลาด ในระบบสุริยะของเรา ดาวเคราะห์หินขนาดเล็กจะอยู่วงใน ส่วนชั้นนอกจะเป็นที่อยู่ของดาวเคราะห์แก๊สขนาดใหญ่ แต่ระบบของเคปเลอร์-20 จะวางสลับกัน เป็นรูปแบบ ใหญ่-เล็ก-ใหญ่-เล็ก-ใหญ่ 
นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจนักว่าระบบนี้มีวิวัฒนาการอย่างไร แต่คาดว่าตำแหน่งของแต่ละดวงที่ปรากฏอยู่นี้ไม่ใช่ตำแหน่งดั้งเดิม สันนิษฐานว่าเมื่อตอนเริ่มต้น ดาวเคราะห์กำเนิดขึ้นในตำแหน่งที่ไกลจากดาวฤกษ์มากกว่านี้ แต่ต่อมาได้ขยับเข้ามาใกล้ดาวฤกษ์ ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากอันตรกิริยากับวัตถุในจานกำเนิดดาวเคราะห์ที่มันเกิดขึ้นมา 
เปรียบเทียบขนาดดาวเคราะห์ที่เพิ่งค้นพบกับโลกและดาวศุกร์

เปรียบเทียบขนาดดาวเคราะห์ที่เพิ่งค้นพบกับโลกและดาวศุกร์ (จาก NASA/Ames/JPL-Caltech)

ที่มา: