สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดอว์นเผยความลับเวสตา

ดอว์นเผยความลับเวสตา

5 พ.ค. 2555
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
เมือวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา องค์การนาซาได้เปิดเผยภาพถ่ายจากยานอวกาศดอว์น ซึ่งเป็นยานสำรวจดาวเคราะห์น้อยของนาซา ภาพชุดนี้ได้แสดงรายละเอียดของดาวเคราะห์น้อยที่ขนาดไม่น้อยดวงนี้ในแบบที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน ทั้งความหลากหลายขององค์ประกอบบนพื้นผิว แผนที่แสดงความเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ รวมถึงโครงสร้างภายในดาว 
ดอว์นเริ่มสำรวจดาวเคราะห์น้อยเวสตามาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ภาพชุดนี้ถ่ายจากระยะห่าง 680 กิโลเมตรและ 210 กิโลเมตร เหนือพื้นผิว ทั้งย่านความยาวคลื่นในแสงที่ตามองเห็นและอินฟราเรด แสดงถึงความหลากหลายของรูปแบบของแร่และหินบนพื้นผิว
ภาพชุดดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์พบหินกรวดเหลี่ยม ซึ่งเป็นหินที่ผ่านการหลอมละลายจากการพุ่งชนโดยอุกกาบาต ส่วนใหญ่ประกอบด้วยเหล็กและแร่ที่ประกอบด้วยแมกนีเซียมอยู่มาก หินประเภทนี้พบมากในหินภูเขาไฟบนโลกเช่นกัน นอกจากนี้ยังพบภาพของสิ่งที่คล้ายก้นบึงที่มีตะกอนทับถมซึ่งอาจเกิดจากฝุ่นละเอียดที่กระเด็นมาจากการพุ่งชนไหลลงไปกองทับถมกันในแอ่ง
ที่หลุมทาร์เพียใกล้ขั้วใต้ของเวสตา ดอว์นยังพบแถบสว่างของชั้นแร่ที่ขอบลาดชันของหลุม แถบของชั้นแร่ที่เผยให้เห็นชัดเจนช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มองเห็นบันทึกประวัติทางภูมิศาสตร์ของดาวเคราะห์น้อยได้เป็นอย่างดี
ชั้นเปลือกดาวใกล้พื้นผิวของเวสตามีหลักฐานของการปนเปื้อนจากการพุ่งชนโดยอุกกาบาต ส่วนชั้นที่ลึกลงไปยังคงมีสมบัติดั้งเดิมอยู่ การถล่มไถลของผืนดินตามขอบหลุมอุกกาบาตที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งยังช่วยเผยรูปแบบของสายแร่ที่ซ่อนเร้นอยู่อีกด้วย
ด้วยการวัดสนามความโน้มถ่วงของเวสตาที่วัดได้จากยานด้วยความละเอียดสุดยอด ทำให้ดอว์นมองเห็นลึกเข้าไปถึงโครงสร้างใต้พื้นผิวเหมือนกับมองดูภาพสามมิติ ดอว์นพบว่าบนพื้นผิวชั้นนอกของเวสตามีความหนาแน่นไม่สม่ำเสมอ พื้นที่หนึ่งใกล้ขั้วใต้มีความหนาแน่นมากเป็นพิเศษ ซึ่งเกิดจากการที่บริเวณนี้เคยถูกพุ่งชนโดยวัตถุอื่น จนเกิดเป็นแอ่ง ชื่อว่า แอ่งเรียซิลเวีย (Rheasilvia Basin) แรงกระแทกทำให้วัสดุน้ำหนักเบาที่เคยปกคลุมอยู่บริเวณดังกล่าวถูกพัดกระเด็นออกไป เผยให้เห็นวัสดุพื้นล่างที่หนาแน่นมากกว่า
แผนที่อุณหภูมิพื้นผิวที่ดอว์นวัดได้ แสดงว่า ณ จุดที่รับแสงแดดมากที่สุดมีอุณหภูมิ -23 องศาเซลเซียส ส่วนที่อยู่ในร่มจะลดลงต่ำถึง -100 องศาเซลเซียส 
นักวิทยาศาสตร์ประจำภารกิจดอว์นกล่าวว่า สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้นักดาราศาสตร์ได้เข้าใจถึงประวัติและกระบวนการก่อกำเนิดของระบบสุริยะได้ดียิ่งขึ้น
ภารกิจของดอว์นยังไม่เสร็จสิ้น เป้าหมายต่อไปของดอว์นคือ ซีรีส ยานจะเดินทางไปถึงดาวเคราะห์แคระดวงนี้ในปี 2558
    ภาพสีรวมของดาวเคราะห์น้อยเวสตาที่ถ่ายโดยยานดอว์นของนาซา แสดงภูมิประเทศใกล้หลุมอะควิลเลียในซีกใต้

    ภาพสีรวมของดาวเคราะห์น้อยเวสตาที่ถ่ายโดยยานดอว์นของนาซา แสดงภูมิประเทศใกล้หลุมอะควิลเลียในซีกใต้ (จาก NASA/JPL-Caltech/UCLA/MPS/DLR/IDA)

    แผนที่โทโพโลยีของดาวเคราะห์น้อยเวสตา (ซ้าย) วงเส้นประแสดงแนวขอบเขตของแอ่งโบราณสองแอ่ง ชื่อ เรียซิลเวีย (Rheasilvia) และ วีเนเนีย (Veneneia) ภาพขวาแสดงความเข้มของความโน้มถ่วงตกค้างซึ่งแสดงความผันแปรทางความหนาแน่นของเปลือกดาว ส่วนสีแดงมีความหนาแน่นสูงสุด ส่วนสีน้ำเงินมีความหนาแน่นต่ำสุด

    แผนที่โทโพโลยีของดาวเคราะห์น้อยเวสตา (ซ้าย) วงเส้นประแสดงแนวขอบเขตของแอ่งโบราณสองแอ่ง ชื่อ เรียซิลเวีย (Rheasilvia) และ วีเนเนีย (Veneneia) ภาพขวาแสดงความเข้มของความโน้มถ่วงตกค้างซึ่งแสดงความผันแปรทางความหนาแน่นของเปลือกดาว ส่วนสีแดงมีความหนาแน่นสูงสุด ส่วนสีน้ำเงินมีความหนาแน่นต่ำสุด

    ที่มา: