สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวฤกษ์เขมือบดาวเคราะห์บริวาร

ดาวฤกษ์เขมือบดาวเคราะห์บริวาร

22 ส.ค. 2555
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นักดาราศาสตร์พบหลักฐานของเหตุการณ์สุดสยองเกิดขึ้นในระบบสุริยะต่างถิ่น เป็นเหตุการณ์ที่ดาวเคราะห์ดวงหนึ่งถูกดาวฤกษ์แม่ของตัวเองกลืนกิน ราวกับจะเป็นการเตือนถึงชะตากรรมของโลกที่จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น 
"เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นในระบบสุริยะของเราในอนาคต โลก รวมถึงดาวเคราะห์ในทั้งหมด ก็จะถูกดวงอาทิตย์กลืนกินไม่เหลือในอีกประมาณห้าพันล้านปีข้างหน้า" อเล็กซ์ วอลซ์ซาน จากมหาวิทยาลัยเพนน์สเตตกล่าว หัวหน้าคณะสำรวจที่พบหลักฐานของการกลืนดาวเคราะห์ในครั้งนี้
ดาวฤกษ์ดวงนี้ชื่อ ดาวบีดี+48 740 (BD+48 740) เป็นดาวยักษ์แดงที่มีอายุมากกว่าดวงอาทิตย์ มีรัศมีใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ 11 เท่า 
การค้นพบครั้งนี้เกิดขึ้นจากการสำรวจค้นหาดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นโดยใช้กล้องโทรทรรศน์ฮอบบี-เอเบอร์ลี
ผลการศึกษาทางสเปกตรัมพบว่าดาวบีดี+48 740 มีระดับลิเทียมสูงกว่าปกติมาก "ลิเทียมเป็นธาตุหายากที่ส่วนใหญ่เกิดจากบิกแบงเมื่อ 14,000 ล้านปีก่อน 
มอนิกา เอดามอฟ จากมหาวิทยาลัยนิโคเลาส์โคเปอร์นิคัสในตูรุน โปแลนด์ อธิบาย "ในดาวฤกษ์ ลิเทียมถูกทำลายได้อย่างง่ายดาย นั่นเป็นเหตุที่ทำให้การพบลิเทียมในดาวฤกษ์ดวงนี้จึงเป็นเรื่องแปลกมาก ๆ"
"ลิเทียมอาจไม่ได้เกิดจากบิกแบงเสมอไป นักวิทยาศาสตร์พบว่าลิเทียมอาจเกิดขึ้นได้ในดาวฤกษ์ แต่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดมาก" วอลซ์ซานอธิบายเสริม
ในกรณีของ บีดี+48 740 คาดว่าลิเทียมเกิดขึ้นจากสสารปริมาณระดับดาวเคราะห์ดวงหนึ่งตีวงเข้าใส่ดาวฤกษ์และถูกเผาจนร้อนขึ้นมาขณะที่ดาวฤกษ์เขมือบบริวารของตนเอง
หลักฐานอีกข้อหนึ่งคือการที่พบว่าดาวเคราะห์บริวารดวงหนึ่งของดาวบีดี+48 740 ที่เพิ่งค้นพบมีวงโคจรรีมาก ดาวเคราะห์ดวงนี้มีมวลไม่น้อยกว่า 1.6 เท่าของดาวพฤหัสบดี 
"วงโคจรของดาวเคราะห์ที่รีมากเช่นนี้เกิดขึ้นได้ยากในระบบดาวเคราะห์ของดาวฤกษ์อายุมากเช่นนี้" อันเจ นีจซีลสกี จากมหาวิทยาลัยนิโคเลาส์โคเปอร์นิคัสอธิบาย "ความจริงดาวเคราะห์ของบีดี+48 740 เป็นดาวเคราะห์ที่มีวงโคจรรีที่สุดในจำนวนดาวเคราะห์ทั้งหมดที่เรารู้จักเสียด้วยซ้ำ"
เนื่องจากอันตรกิริยาทางแรงโน้มถ่วงระหว่างดาวเคราะห์เกี่ยวข้องกับวงโคจรที่แปลกประหลาดเช่นนี้ นักดาราศาสตร์คณะนี้จึงคิดว่า ในระบบนี้มีดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่งที่จมหายเข้าไปในดาวฤกษ์ จึงเป็นการเพิ่มพลังงานให้แก่ดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่งจนเปลี่ยนวงโคจรของตัวเองให้มีลักษณะพิเศษเช่นนั้นได้

กล้องโทรทรรศน์ฮอบบี-เอเบอร์ลี

กล้องโทรทรรศน์ฮอบบี-เอเบอร์ลี

ที่มา: