สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พบดาวเคราะห์อิสระ พเนจรอยู่นอกระบบสุริยะ

พบดาวเคราะห์อิสระ พเนจรอยู่นอกระบบสุริยะ

8 ธ.ค. 2555
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
นักดาราศาสตร์พบวัตถุคล้ายดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง ลอยเคว้งคว้างอยู่กลางอวกาศ ไม่ได้โคจรรอบวัตถุดวงใด 
นักดาราศาสตร์เคยพบวัตถุอิสระที่ไม่ใช่ดาวฤกษ์มาก่อนหน้านี้แล้วจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่า วัตถุเหล่านั้นมีต้นกำเนิดมาอย่างไร แม้แต่ชนิดก็ยังไม่แน่ใจนักว่ามันคือวัตถุประเภทใดกันแน่
ทฤษฎีหนึ่งอธิบายว่า วัตถุเหล่านี้อาจมีต้นกำเนิดคล้ายดาวฤกษ์ นั่นคือเกิดที่ใจกลางของจานพอกพูนมวล (accretion disc) ซึ่งเป็นกลุ่มของแก๊สที่หมุนวนและอัดแน่นเข้ากับวัตถุที่ใจกลางมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่เนื่องจากมวลมีไม่มากพอที่จะทำให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ จึงไปไม่ถึงระดับดาวฤกษ์ เป็นได้เพียงดาวแคระน้ำตาลเท่านั้น
อีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า วัตถุดวงนี้อาจกำเนิดขึ้นในแผ่นจานพอกพูนมวลแบบดาวเคราะห์ โคจรรอบดาวฤกษ์ แต่ต่อมาได้ถูกเหวี่ยงจนหลุดออกมาจากระบบสุริยะต้นกำเนิด
ณ ขณะนี้ นักดาราศาสตร์ยังชี้ขาดไม่ได้ว่าทฤษฎีไหนจะเป็นไปได้มากกว่ากัน แต่สิ่งที่นักดาราศาสตร์สนใจวัตถุอิสระดวงนี้เป็นพิเศษก็คือ มันอยู่ห่างจากระบบสุริยะของเราประมาณ 100 ปีแสง ทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมนี้ช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาวัตถุดวงนี้ได้อย่างละเอียดกว่าวัตถุดวงอื่น ๆ ที่เคยพบกันมาก่อนหน้านี้
"การมองดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ ก็เหมือนกับการศึกษาหิ่งห้อยที่บินอยู่หน้าไฟหน้ารถยนต์ที่เปิดไว้ แต่ดาวเคราะห์ที่ไม่มีดาวฤกษ์อยู่ใกล้เช่นดวงนี้ จะเหมือนหิ่งห้อยที่บินอยู่อย่างลำพังท่ามกลางค่ำคืนอันมืดมิด ปราศจากแสงไฟจากแหล่งอื่นมารบกวน"  ฟิลิป เดอโลร์เมอ จากสถาบันดาวเคราะห์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์เกรอโนเบิล ประเทศฝรั่งเศส หัวหน้าคณะสำรวจที่พบวัตถุดวงนี้กล่าวเปรียบเทียบให้ฟังในการแถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชน
คณะของเดอโลร์เมอได้ใช้กล้องโทรทรรศน์กำลังสูงสองกล้องบันทึกภาพและสเปกตรัมของวัตถุดวงนี้ นับเป็นครั้งแรกที่สามารถเก็บบันทึกสเปกตรัมคุณภาพสูงของวัตถุประเภทนี้ได้ ทำให้ทราบได้ถึงอุณหภูมิ ความโน้มถ่วง และองค์ประกอบทางเคมีของบรรยากาศ
คาดว่ามีวัตถุดวงนี้อุณหภูมิประมาณ 430 องศาเซลเซียส มีมวลมากกว่าดาวพฤหัสบดี 4-7 เท่า มีอายุอยู่ระหว่าง 20-200 ล้านปี ซึ่งจัดได้ว่าเป็นวัตถุอายุน้อย มีความน่าจะเป็นราว 87 เปอร์เซ็นต์ที่วัตถุดวงนี้จะเป็นสมาชิกในขบวนดาวฤกษ์เคลื่อนที่ (moving group) แห่งหนึ่งที่มีชื่อว่า เอบีปลาปากดาบ (AB Doradus) ซึ่งเป็นขบวนดาวฤกษ์เคลื่อนที่ที่อยู่ใกล้ระบบสุริยะของเรามากที่สุด
เดอโลร์เมอและคณะคาดหวังว่าการค้นพบของเขาจะช่วยให้เข้าใจว่ากระบวนการกำเนิดดาวฤกษ์สร้างวัตถุมวลระดับดาวเคราะห์ขึ้นมาได้อย่างไร และดาวเคราะห์ถูกเหวี่ยงหลุดออกจากระบบดาวเคราะห์ได้อย่างไร
"หากวัตถุนี้เป็นดาวเคราะห์ที่ถูกเหวี่ยงหลุดออกมาจากระบบจริง ไม่ใช่ดาวแคระน้ำตาล ย่อมแสดงว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้ทั่วไปในกระบวนการกำเนิดดาวเคราะห์ และย่อมแสดงว่ามีวัตถุจำพวกที่คล้ายดาวเนปจูนและคล้ายโลกที่ลอยละล่องอย่างอ้างว้างในอวกาศอยู่มากมาย ดังที่การศึกษาก่อนหน้านี้หลายแห่งได้คาดการณ์ไว้” เดอโลร์เมอกล่าว
    ภาพวาดดาวเคราะห์อิสระในจินตนาการของศิลปิน <wbr><br />
<br />

    ภาพวาดดาวเคราะห์อิสระในจินตนาการของศิลปิน 

    (จาก ESO)

    ที่มา: