สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เอสดีโอศึกษาการสร้างดาวฤกษ์จากการปะทุบนดวงอาทิตย์

เอสดีโอศึกษาการสร้างดาวฤกษ์จากการปะทุบนดวงอาทิตย์

26 มิ.ย. 2556
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
วันที่ มิถุนายน 2554 หรือเมื่อราวสองปีก่อน ได้เกิดการปะทุครั้งใหญ่บนดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์ได้สาดพลาสมาร้อนปริมาณมหาศาลขึ้นสู่อวกาศ  หลังจากนั้นพลาสมาบางส่วนได้ตกลงสู่ผิวดวงอาทิตย์ พร้อมกับสาดแสงอัลตราไวโอเลตร้อนแรงแรงออกมา 
การปะทุในครั้งนั้นอยู่ในสายตาของยานดีเอสโอตลอดเวลา ซึ่งได้บันทึกเหตุการณ์เอาไว้อย่างละเอียด ยานดีเอสโอ (Solar Dynamics Observatory) เป็นยานสำรวจดวงอาทิตย์ของนาซา มีหน้าที่บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ตลอด 24 ชั่วโมง 
ท่อนฟิล์มที่แสดงการปะทุในครั้งนั้นได้แสดงภาพสายใยของแก๊สสีคล้ำพุ่งออกมาจากทางขวาล่างของดวงอาทิตย์ แม้สายพลาสมานั้นจะดูคล้ำ แต่ความจริงมีอุณหภูมิสูงถึง 10,000 องศาเซลเซียส และเมื่อก้อนพลาสมานั้นตกลงสู่พื้นผิวดวงอาทิตย์อีกครั้ง จะแผ่ความร้อนขึ้นเป็นร้อยเท่าถึงประมาณ 1.1 ล้านองศาเซลเซียส และส่องแสงอัลตราไวโอเลตรุนแรงกว่าปกติถึง 2-5 เท่าเป็นเวลาหลายนาที
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ พลังงานมหาศาลที่ปล่อยออกมาเกิดขึ้นจากแก๊สร้อนที่ตกลงไปด้วยความเร็วสูงถึง 400 กิโลเมตรต่อวินาที ความเร็วนี้ใกล้เคียงกับความเร็วของแก๊สที่ถูกดูดเข้าไปสู่ดาวฤกษ์อายุน้อยในกระบวนการพอกพูนมวล ดังนั้นนักดาราศาสตร์จึงอาศัยการปะทุบนดวงอาทิตย์ในครั้งนี้ในการทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนดาวฤกษ์ที่ห่างไกลได้
"ที่ผ่านมาเรามักจะศึกษาดาวฤกษ์อายุน้อยที่อยู่ห่างไกลเพื่อทำความเข้าใจดวงอาทิตย์ในอดีต มาครั้งนี้เราทำสิ่งที่กลับกัน โดยศึกษาดวงอาทิตย์เพื่อทำความเข้าใจดาวฤกษ์อายุน้อยดวงอื่น" เพาลา เทสตา จากศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ฮาร์วาร์ด-สมิทโซเนียน หน่วยงานผู้ออกแบบอุปกรณ์ถ่ายภาพของเอสดีโออธิบาย
ด้วยข้อมูลจากการสำรวจครั้งนี้ ร่วมกับการสร้างแบบจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ ได้ช่วยให้นักดาราศาสตร์ไขปัญหาที่ค้างคามายาวนานนับทศวรรษได้ข้อหนึ่ง นั่นคือการวัดอัตราการพอกพูนมวลของดาวฤกษ์ที่กำลังก่อร่างสร้างตัว โดยการคำนวณจากความสว่างในหลายย่านความถี่ และจากการเปลี่ยนแปลงความสว่างเมื่อเวลาผ่านไป 
คณะของเทสตาพบว่าแสงวาบในย่านรังสีอัลตราไวโอเลตส่องสว่างขึ้นมาจากสสารที่ตกลงไปบนพื้นผิวดวงอาทิตย์เอง ไม่ได้มาจากบรรยากาศของดวงอาทิตย์ที่อยู่รอบ ๆ หากกลไกแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นบนดาวฤกษ์ดวงอื่นด้วย เราก็ศึกษาสสารที่ไหลลงสู่ดาวฤกษ์นั้นได้จากการวิเคราะห์แสงอัลตราไวโอเลตที่ดาวนั้นแผ่ออกมา
ภาพถ่ายดวงอาทิตย์ โดยยานเอสดีโอ ที่ความยาวคลื่น 304, 171 และ 335 อังสตรอม ถ่ายเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2554 แหล่งกำเนิดการปะทุส่องสว่างอยู่ทางขวาล่าง สสารจากการปะทุพุ่งขึ้นสู่อวกาศแล้วตกกลับลงสู่พื้นผิว นักดาราศาสตร์พบว่าการศึกษากระบวนการนี้ช่วยในการทำความเข้าใจกระบวนการพอกพูนมวลของดาวฤกษ์ได้

ภาพถ่ายดวงอาทิตย์ โดยยานเอสดีโอ ที่ความยาวคลื่น 304, 171 และ 335 อังสตรอม ถ่ายเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2554 แหล่งกำเนิดการปะทุส่องสว่างอยู่ทางขวาล่าง สสารจากการปะทุพุ่งขึ้นสู่อวกาศแล้วตกกลับลงสู่พื้นผิว นักดาราศาสตร์พบว่าการศึกษากระบวนการนี้ช่วยในการทำความเข้าใจกระบวนการพอกพูนมวลของดาวฤกษ์ได้

ที่มา: