สมาคมดาราศาสตร์ไทย

พายุดาวศุกร์คึกจัด

พายุดาวศุกร์คึกจัด

17 ก.ค. 2556
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ดาวศุกร์ เป็นดินแดนแห่งความหฤโหด หนึ่งในความโหดของดาวเคราะห์ดวงนี้ที่รู้จักกันดีก็คือ ลมพายุที่พัดคลั่งทั่วทั้งดาว ลมบนดาวศุกร์เคลื่อนที่วนรอบดาวครบรอบได้ภายในเวลาเพียงสี่วันของโลก ต่างจากอัตราการหมุนรอบตัวเองของดาวที่หมุนอย่างเชื่องช้า ที่กว่าจะครบรอบต้องใช้เวลานานถึง 243 วันโลก
ราวกับว่าความโหดเดิมยังมีไม่มากพอ นักดาราศาสตร์สังเกตว่าลมที่พัดแรงอยู่แล้วบนดาวศุกร์เริ่มพัดเร็วขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
จากการสังเกตการเปลี่ยนตำแหน่งของจุดสังเกตบนเมฆที่ระดับความสูง 70 กิโลเมตรจากพื้นผิวดาวศุกร์มาเป็นเวลา 10 ปีดาวศุกร์ (ประมาณ ปีโลก) นักวิทยาศาสตร์สามารถบันทึกและสังเกตรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงความเร็วลมในระระยาวได้
เมื่อครั้งยานวีนัสเอกซ์เพรสเดินทางไปถึงดาวศุกร์ในปี 2549 ยานวัดความเร็วลมที่ละติจูด 50 องศาทั้งเหนือใต้ได้ประมาณ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ย แต่จากงานวิจัยสองงานที่ไม่เกี่ยวข้องกัน ต่างยืนยันตรงกันว่า ความเร็วลมบนดาวศุกร์ได้ทวีความเร็วขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันความเร็วได้พุ่งขึ้นสูงถึง 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้ว 
“การเปลี่ยนแปลงความเร็วอย่างมากมายของดาวศุกร์เช่นนี้ไม่เคยมีการบันทึกมาก่อน และเราก็ยังไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร” อีกอร์ ฮาตุนเซฟ จากสถาบันวิจัยอวกาศในมอสโกกล่าว
คณะของฮาตุนเซฟวัดความเร็วของลมจากการเปลี่ยนตำแหน่งของจุดสังเกตในแต่ละเฟรม ทั้งจากการสังเกตด้วยตากว่า 45,000 จุด และจากคอมพิวเตอร์ที่จับได้กว่า 350,000 จุด
นอกจากคุณของฮาตุนเซฟแล้ว ยังมีคณะนักวิทยาศาสตร์จากญี่ปุ่นอีกคณะหนึ่งที่ศึกษาในเรื่องเดียวกันและให้ผลออกมาตรงกัน
ไม่เพียงแต่ความเร็วเฉลี่ยที่มีแนวโน้มเร็วขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ยังพบว่าความเร็วลมยังมีการเปลี่ยนแปลงตามเวลาท้องถิ่นของแต่ละวัน มุมสูงของดวงอาทิตย์ และคาบการหมุนของดาวศุกร์อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงเป็นรายคาบที่เกิดขึ้นทุก 4.8 วัน ใกล้เส้นศูนย์สูตร ที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับคลื่นบรรยากาศที่ระดับต่ำ
งานวิจัยนี้ยังพบปรากฏการณ์บางอย่างที่ยังหาคำอธิบายไม่ได้ คณะจากญี่ปุ่นพบว่า การเคลื่อนที่ของเมฆที่ละติจูดต่ำทางด้านซีกใต้ของดาว ความเร็วของเมฆได้เพิ่มขึ้นถึง 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมงภายในช่วงเวลา 255 วันโลก (นานกว่า ปีดาวศุกร์เล็กน้อย) 
ในบางกรณีพบว่า เมฆที่บริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรเคลื่อนที่ครบรอบภายในระยะเวลา 3.9 ในขณะที่บางช่วงใช้เวลา 5.3 วัน 
"กระแสลมที่พัดอย่างบ้าคลั่งบนดาวศุกร์เป็นหนึ่งในความลึกลับเรื่องหนึ่งในระบบสุริยะที่ยังหาคำอธิบายไม่ได้ การค้นพบครั้งนี้ยิ่งเป็นการเสริมให้ปริศนาข้อนี้ซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก" ฮากัน สเวดเฮม นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการวีนัสเอกซ์เพรสกล่าว
ภาพถ่ายดาวศุกร์โดยยานวีนัสเอกซ์เพรส ถ่ายจากระยะ 30,000 กิโลเมตร

ภาพถ่ายดาวศุกร์โดยยานวีนัสเอกซ์เพรส ถ่ายจากระยะ 30,000 กิโลเมตร (จาก ESA/MPS/DLR/IDA)

การศึกษาระยะยาวโดยยานวีนัสเอกซ์เพรสขององค์การอวกาศยุโรปพบว่า ความเร็วลมเฉลี่ยบนดาวศุกร์ที่บริเวณละติจูดต่ำ (ระหว่าง 50 องศาเหนือถึง 50 องศาใต้) ได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็น 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมงภายในช่วงที่ยานปฏิบัติภารกิจมาเป็นเวลา 6 ปี เส้นสีขาวแสดงข้อมูลที่ได้จากการวัดตำแหน่งของเมฆด้วยมือ เส้นสีดำแสดงข้อมูลที่ได้จากระบบติดตามอัตโนมัต

การศึกษาระยะยาวโดยยานวีนัสเอกซ์เพรสขององค์การอวกาศยุโรปพบว่า ความเร็วลมเฉลี่ยบนดาวศุกร์ที่บริเวณละติจูดต่ำ (ระหว่าง 50 องศาเหนือถึง 50 องศาใต้) ได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็น 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมงภายในช่วงที่ยานปฏิบัติภารกิจมาเป็นเวลา 6 ปี เส้นสีขาวแสดงข้อมูลที่ได้จากการวัดตำแหน่งของเมฆด้วยมือ เส้นสีดำแสดงข้อมูลที่ได้จากระบบติดตามอัตโนมัต

ที่มา: