สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เคปเลอร์พบดาวเคราะห์ทีเดียว 715 ดวง

เคปเลอร์พบดาวเคราะห์ทีเดียว 715 ดวง

17 มี.ค. 2557
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
การค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น ทุกครั้งที่นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์ขึ้นมาดวงหนึ่ง ก็จะเป็นข่าวใหญ่ให้พาดหัวทุกครั้งไป

แล้วถ้าเป็นการค้นพบดาวเคราะห์คราวเดียว 715 ดวงล่ะ? นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเคปเลอร์เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เคปเลอร์เป็นภารกิจค้นหาดาวเคราะห์ต่างระบบที่มีผลงานโดดเด่นที่สุด ก่อนหน้าการค้นพบครั้งนี้ เคปเลอร์ได้ค้นพบดาวเคราะห์ที่ยืนยันแล้ว 246 ดวง 

ในจำนวนดาวฤกษ์ 160,000 ดวงที่เคปเลอร์สำรวจมา มีเพียงไม่กี่พันดวงที่ต้องสงสัยว่าจะมีดาวเคราะห์บริวาร และในครั้งนี้พบดาวเคราะห์มากถึง 715 ดวง อยู่ในระบบสุริยะ 305 แห่ง

เคปเลอร์ค้นหาดาวเคราะห์ด้วยวิธีการตรวจจับแสงจากดาวฤกษ์ที่หรี่ลงจากการที่ดาวเคราะห์บริวารผ่านหน้า เมื่อเคปเลอร์พบการหรี่ของแสงดาว ก็จะจับตาดาวดวงนั้นต่อไป คอยสังเกตการผ่านหน้าคราวต่อไปเพื่อยืนยันว่าเกิดจากดาวเคราะห์ผ่านหน้าจริง การติดตามสำรวจเพื่อยืนยันดาวเคราะห์เป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากและเสียเวลา และเป็นกระบวนการที่ต้องทำทีละดวง

แต่การค้นพบครั้งนี้ เคปเลอร์ใช้วิธีใหม่ที่ทำให้การค้นพบเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แจ็ก ลิสเซาเอร์ จากศูนย์วิจัยเอมส์ อธิบายว่า "เราได้คิดวิธีใหม่ที่ทำให้พิสูจน์ดาวเคราะห์ได้คราวเดียวหลายดวงพร้อมกัน โดยอาศัยหลักความน่าจะเป็น"

เพื่อให้อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น แจ็ก ลิสเซาเอร์ เปรียบเทียบการสำรวจดาวเคราะห์กับการสังเกตฝูงสิงโต 

สมมุติว่า ดาวฤกษ์ที่เคปเลอร์ส่อง เป็นสิงโตตัวผู้ และดาวเคราะห์บริวารเป็นสิงโตตัวเมีย หากเราเห็นสิงโตคู่หนึ่ง ก็จะเป็นไปได้ว่าเป็นสิงโตตัวผู้กับตัวเมียอย่างละตัว หรือเป็นสิงโตตัวผู้ทั้งคู่ แต่หากพบฝูงสิงโตมากกว่าสองตัวอยู่ด้วยกัน ก็ย่อมเป็นไปได้มากว่าจะประกอบด้วยสิงโตตัวผู้หนึ่งตัว ส่วนที่เหลือเป็นตัวเมีย ด้วยหลักการนี้ ก็นำมาใช้จำแนกดาวเคราะห์ได้เช่นกัน

ดาวเคราะห์ที่พบในคราวนี้ทั้งหมดเป็นดาวเคราะห์ในระบบที่มีดาวเคราะห์หลายดวง ในจำนวนนี้ 95 เปอร์เซ็นต์เป็นดาวเคราะห์ที่เล็กกว่าดาวเนปจูน ซึ่งเป็นความก้าวหน้าอย่างมากในการค้นหาดาวเคราะห์ขนาดเล็ก

เจสัน โรวี หัวหน้าคณะสำรวจจากสถาบันเซตีอธิบายว่า "การศึกษานี้แสดงว่าดาวเคราะห์ในระบบดาวเคราะห์หลายดวงมีแนวโน้มมีขนาดเล็ก มีวงโคจรกลมและราบ เช่นเดียวกับระบบสุริยะของเรา"

ในจำนวนดาวเคราะห์ที่พบใหม่ครั้งนี้ มีสี่ดวงที่มีมวลไม่ถึง 2.5 เท่าของโลก ยิ่งกว่านั้นยังโคจรอยู่ในเขตเอื้ออาศัย หมายถึงเขตที่อุณหภูมิพื้นผิวของดาวเคราะห์อยู่ในระดับที่น้ำอยู่ในสถานะของเหลวได้ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับสิ่งมีชีวิต

"ยิ่งเราสำรวจมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็ยิ่งพบเค้าลางความคล้ายคลึงกับระบบสุริยะของเรามากขึ้น" โรวีทิ้งท้าย

ภาพวาดในจินตนาการของศิลปิน <wbr>ของระบบสุริยะที่มีดาวเคราะห์หลายดวง <wbr><br />

ภาพวาดในจินตนาการของศิลปิน ของระบบสุริยะที่มีดาวเคราะห์หลายดวง 

กราฟแสดงจำนวนดาวเคราะห์ต่างระบบที่ค้นพบในปีต่าง ๆ ดาวเคราะห์ดวงแรกค้นพบเมื่อสองทศวรรษก่อน จำนวนการค้นพบเพิ่มขึ้นทีละน้อยในแต่ละปี แท่งสีฟ้าแสดงจำนวนดาวเคราะห์ที่ค้นพบในแต่ละปีจากโครงการอื่น แท่งสีส้มแสดงจำนวนดาวเคราะห์ที่ค้นพบโดยภารกิจเคปเลอร์ แท่งสีส้มอ่อนแสดงจำนวนดาวเคราะห์ที่พบในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการเพิ่มยอดการค้นพบแบบก้าวกระโดด

กราฟแสดงจำนวนดาวเคราะห์ต่างระบบที่ค้นพบในปีต่าง ๆ ดาวเคราะห์ดวงแรกค้นพบเมื่อสองทศวรรษก่อน จำนวนการค้นพบเพิ่มขึ้นทีละน้อยในแต่ละปี แท่งสีฟ้าแสดงจำนวนดาวเคราะห์ที่ค้นพบในแต่ละปีจากโครงการอื่น แท่งสีส้มแสดงจำนวนดาวเคราะห์ที่ค้นพบโดยภารกิจเคปเลอร์ แท่งสีส้มอ่อนแสดงจำนวนดาวเคราะห์ที่พบในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการเพิ่มยอดการค้นพบแบบก้าวกระโดด

ที่มา: