สมาคมดาราศาสตร์ไทย

โคตรเพชรบนยูเรนัสและเนปจูน

โคตรเพชรบนยูเรนัสและเนปจูน

9 ก.พ. 2553
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
อยากเจอเพชรเป็นตัน ๆ ไหม? ไปอยู่บนดาวยูเรนัสหรือดาวเนปจูนสิ
ณ ห้องทดลองแห่งชาติลอเรนซ์ลิเวอร์มอร์ นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองยิงเลเซอร์กำลังสูงไปยังเพชรขนาดกว้าง มิลลิเมตร หนา 0.5 มิลลิเมตร การยิงนี้ทำให้ความร้อนพุ่งขึ้นสูงถึง 110,000 เคลวิน และมีความดันถึง 4,000 กิกะปาสคาลหรือ 40 ล้านเท่าของความดันปกติที่ผิวโลก
ปฏิบัติการนี้เป็นผลงานของคณะนักวิทยาศาสตร์นำโดย โจน เอกเกิร์ต เป็นการทดลองเพื่อศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับจุดหลอมเหลวของเพชร ซึ่งเป็นวัสดุที่แข็งที่สุดในธรรมชาติ และยังอาจช่วยไขปริศนาเรื่องทิศทางสนามแม่เหล็กที่แปลกประหลาดของดาวยูเรนัสและดาวเนปจูนได้อีกด้วย
จากการทดลองพบว่า ขณะที่ความดันลดลง อุณหภูมิจะสูงขึ้น ซึ่งแปลความได้ว่ามีพลังงานส่วนหนึ่งถูกใช้ไปในการทำละลายเพชร การทดลองนี้สามารถวัดอุณหภูมิและความดันของเพชรขณะที่หลอมเหลวบางส่วนได้ในช่วงกว้างตั้งแต่ 6-11 ล้านบรรยากาศ ในช่วงความดันนี้เพชรแสดงพฤติกรรมคล้ายกับน้ำซึ่งส่วนที่เป็นของแข็งมีความหนาแน่นน้อยกว่าส่วนที่เป็นของเหลว แต่ในการทดลองนี้แทนที่จะเป็นน้ำแข็งลอยบนน้ำกลับเป็นก้อนเพชรขนาดจิ๋วลอยอยู่บนคาร์บอนเหลว
นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า สภาพความดันสูงที่ทำให้เพชรแสดงพฤติกรรมน่าสนใจเช่นนี้อาจเกิดขึ้นในดาวเคราะห์ยักษ์อย่างดาวเนปจูนและดาวยูเรนัสก็ได้ 
"อาจเป็นไปได้ว่าที่นั่นอาจมีแกนดาวที่เป็นคาร์บอนเหลวและมีเพชรลอยปริ่มอยู่บนนั้นเหมือนกับภูเขาน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในทะเลบนโลก" เอกเกิร์ตอธิบาย
มหาสมุทรเพชรที่ไหลวนอยู่ในแกนของดาวเคราะห์นี้อาจอธิบายปริศนาที่มีมาอย่างยาวนานข้อหนึ่งได้ นักดาราศาสตร์สงสัยมาเป็นเวลานานแล้วว่า เหตุใดขั้วแม่เหล็กของดาวเคราะห์น้ำแข็งยักษ์เช่นยูเรนัสและเนปจูนจึงทำมุมห่างจากขั้วการหมุนของดาวมากถึง 60 องศา สนามแม่เหล็กของดาวเคราะห์เกิดขึ้นจากการไหลอันซับซ้อนของของเหลวในบริเวณนำไฟฟ้าของดาวเคราะห์ และเพชรก็สามารถเบี่ยงเบนเส้นแรงแม่เหล็กจนขั้วแม่เหล็กเลื่อนเหลื่อมจากขั้วการหมุนดังที่พบจากการสำรวจก็ได้









ดาวยูเรนัส ถ่ายโดยยานวอยเอเจอร์ 2

ดาวยูเรนัส ถ่ายโดยยานวอยเอเจอร์ 2

ดาวเนปจูน ถ่ายโดยยานวอยเอเจอร์ 2

ดาวเนปจูน ถ่ายโดยยานวอยเอเจอร์ 2

ภาพถ่ายการยิงเลเซอร์โอเมกาไปที่เพชรเพื่อทดสอบการหลอมละลาย เพชรอยู่ที่กลางภาพเยื้องไปทางขวา แสงสีขาวคือพลาสมาที่ฟุ้งออกมา

ภาพถ่ายการยิงเลเซอร์โอเมกาไปที่เพชรเพื่อทดสอบการหลอมละลาย เพชรอยู่ที่กลางภาพเยื้องไปทางขวา แสงสีขาวคือพลาสมาที่ฟุ้งออกมา

ที่มา: