สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เมสเซนเจอร์ไขปัญหาแกนดาวพุธ

เมสเซนเจอร์ไขปัญหาแกนดาวพุธ

16 ก.ย. 2557
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ดาวพุธ ดาวเคราะห์ดวงในสุด และเป็นดาวเคราะห์ดวงเล็กที่สุดในระบบสุริยะ แต่ในความเล็กของดาวเคราะห์ดวงนี้ ได้เก็บปริศนาข้อใหญ่ข้อหนึ่งที่นักดาราศาสตร์ได้แต่งุนงงมานานหลายทศวรรษ
ปริศนาข้อใหญ่ที่สุดของดาวพุธก็คือ การที่ดาวพุธมีแกนเหล็กขนาดใหญ่มาก แกนเหล็กของดาวพุธมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของดาวทั้งดวง และมีมวลมากถึง 65 เปอร์เซ็นต์ของดาวทั้งดวง ในขณะที่ดาวเคราะห์ดวงอื่นล้วนมีแกนเหล็กขนาดเล็กเมื่อเทียบกับขนาดของทั้งดวง 
ปี 2547 องค์การนาซาได้ปล่อยยานแมสเซนเจอร์ขึ้นสู่อวกาศ ยานลำนี้มีภารกิจสำคัญในการสำรวจดาวพุธ โดยอยู่ในวงโคจรรอบดาวพุธนานถึงสามปีครึ่ง
ก่อนยุคของแมสเซนเจอร์ นักวิทยาศาสตร์ได้เสนอทฤษฎีเพื่ออธิบายถึงสัดส่วนของเหล็กที่ไม่ธรรมดาของดาวพุธเอาไว้เป็นสามทาง
ทฤษฎีแรก อธิบายว่าดาวพุธเมื่อแรกกำเนิดมีองค์ประกอบใกล้เคียงโลก แต่ต่อมาได้ถูกความร้อนจากดวงอาทิตย์แผดเผาจนเนื้อดาวชั้นนอกส่วนใหญ่ได้ระเหยหายไป
ทฤษฎีที่สองกล่าวว่าดาวพุธต่างจากโลกมาตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว โดยมีสารตั้งต้นที่มีโลหะอยู่มาก จึงสร้างดาวเคราะห์ที่มีแกนเหล็กขนาดใหญ่เช่นนี้ได้
ทฤษฎีที่สาม อธิบายว่า ดาวพุธแรกเกิดมีขนาดใหญ่กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ แต่ต่อมาถูกวัตถุอื่นเฉี่ยวชนจนทำให้เสียเนื้อดาวส่วนนอกและเปลือกดาวออกไป ทำให้เหลือแต่ส่วนในที่มีแกนเหล็กเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ 
เดิมทีนั้น นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่าทฤษฎีที่สองมีความเป็นไปได้น้อยที่สุด แต่ข้อมูลจากแมสเซนเจอร์กลับสร้างความประหลาดใจให้นักวิทยาศาสตร์ เมื่อพบว่าหินบนดาวพุธมีส่วนผสมของกำมะถัน โพแทสเซียม และโซเดียมอยู่ค่อนข้างมาก สารเหล่านี้เป็นสารที่สลายตัวได้ง่ายในสภาพร้อนจัด การค้นพบนี้ทำให้ทฤษฎีที่หนึ่งตกไปทันที และทำให้ทฤษฎีที่สามลดน้ำหนักลงไปมากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้
เอริก แอสฟอก จากมหาวิทยาชัยแอริโซนาสเตต และ อันเดรียส รอยเฟอร์ จากมหาวิทยาลัยเบิร์น สวิสเซอร์แลนด์ ได้เสนอทฤษฎีใหม่เพื่ออธิบายการค้นพบของเมสเซนเจอร์ในครั้งนี้ ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี แอสฟอกได้แสดงให้เห็นว่าการชนกันในอดีตหลายครั้งเป็นการชนโดยวัตถุก้อนเล็กกว่าพุ่งเข้าชนวัตถุก้อนใหญ่กว่า แต่วัตถุก้อนเล็กไม่จำเป็นจะต้องถูกกลืนโดยก้อนใหญ่เสมอไป ราวครึ่งหนึ่งของจำนวนการชนทั้งหมด เป็นการชนแบบเฉี่ยวหรือถาก หลังการชนวัตถุที่เข้าชนจึงกระเด็นจากไป การชนแบบนี้ไม่ทำให้วัตถุดวงใดแหลกสลาย แต่ทั้งคู่จะเสียเนื้อดาวชั้นนอกออกไป 
หากการชนนี้เกิดขึ้นหลังจากที่วัตถุทั้งสองได้มีการแยกชั้นแล้ว นั่นหมายความว่าสสารหนักอย่างเช่นเหล็ก ได้จมลงสู่แกนกลางไปมากแล้ว ดังนั้นเนื้อดาวที่ถูกกระแทกจนแตกกระจายออกไปจึงเป็นสสารเบา เมื่อการชนแบบถากเกิดขึ้นมากครั้งเข้า ก็จะทำให้เกิดวัตถุที่มีแกนเหล็กขนาดใหญ่จำนวนมากอยู่ในระบบสุริยะชั้นใน นั่นเพราะวัตถุดวงที่ใหญ่กว่าในการชนแต่ละครั้งจะเป็นฝ่ายกวาดกลืนเศษเนื้อดาวที่กระจายออกมาประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์เข้าไปเป็นเนื้อของตัวเอง
ตามทฤษฎีของนักดาราศาสตร์ทั้งสองนี้ ดาวพุธเคยถูกชนแบบถากครั้งใหญ่มาก่อนไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้งและอยู่รอดมาได้ การชนแต่ละครั้ง ทำให้เสียเปลือกดาวส่วนนอกที่เป็นธาตุเบาอย่างซิลิเกตออกไปเรื่อย ๆ และทำให้สัดส่วนของเหล็กต่อดาวทั้งดวงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมีองค์ประกอบของดาวเป็นดังเช่นปัจจุบัน 
ภาพวาดในจินตนาการของศิลปิน แสดงวัตถุต้นกำเนิดดาวเคราะห์สองดวงชนกันในช่วงต้นของประวัติศาสตร์ระบบสุริยะ การชนเช่นนี้ทำให้ดาวพุธเหลือเปลือกซิลิเกตบางลงและมีแกนเหล็กขนาดใหญ่

ภาพวาดในจินตนาการของศิลปิน แสดงวัตถุต้นกำเนิดดาวเคราะห์สองดวงชนกันในช่วงต้นของประวัติศาสตร์ระบบสุริยะ การชนเช่นนี้ทำให้ดาวพุธเหลือเปลือกซิลิเกตบางลงและมีแกนเหล็กขนาดใหญ่ (จาก NASA / JPL)

ภาพการจำลองเหตุการณ์ด้วยคอมพิวเตอร์ <wbr>วัตถุดวงสีส้มคือดาวพุธในวัยแรกรุ่น <wbr>พื้นที่สีฟ้าแสดงส่วนที่เป็นแกนเหล็ก <wbr>ชนเข้ากับวัตถุต้นกำเนิดดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่งที่หนักกว่า <wbr>(สีแดง) <wbr>ด้วยการชนแบบถาก<br />

ภาพการจำลองเหตุการณ์ด้วยคอมพิวเตอร์ วัตถุดวงสีส้มคือดาวพุธในวัยแรกรุ่น พื้นที่สีฟ้าแสดงส่วนที่เป็นแกนเหล็ก ชนเข้ากับวัตถุต้นกำเนิดดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่งที่หนักกว่า (สีแดง) ด้วยการชนแบบถาก
(จาก E. Asphaug & A. Reufer / Nature Geoscience)

แรงกระแทกจากการชนแบบถาก <wbr>ทำให้เนื้อดาวส่วนนอกของวัตถุดวงที่เล็กกว่าออกไปมาก <wbr>จึงเหลือแต่เนื้อชั้นในซึ่งมีเหล็กเป็นส่วนประกอบหลัก <wbr>ซึ่งเป็นลักษณะโครงสร้างที่ใกล้เคียงกับดาวพุธในปัจจุบัน<br />

แรงกระแทกจากการชนแบบถาก ทำให้เนื้อดาวส่วนนอกของวัตถุดวงที่เล็กกว่าออกไปมาก จึงเหลือแต่เนื้อชั้นในซึ่งมีเหล็กเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งเป็นลักษณะโครงสร้างที่ใกล้เคียงกับดาวพุธในปัจจุบัน
(จาก E. Asphaug & A. Reufer / Nature Geoscience)

ที่มา: