สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ดาวเคราะห์อภิมหาวงแหวน

ดาวเคราะห์อภิมหาวงแหวน

24 ก.พ. 2558
รายงานโดย: วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)
ดาวเสาร์ ได้ชื่อว่าเป็นดาวเคราะห์ที่เชิดฉายที่สุดในระบบสุริยะ จากวงแหวนที่ดูสวยเด่นไม่เหมือนดาวเคราะห์ดวงอื่น แต่ถ้าหากนำดาวเสาร์ไปเทียบกับดาวเคราะห์ต่างระบบดวงหนึ่งที่เพิ่งค้นพบ ดาวเสาร์คงจะต้องอายไปเลย
ดาวเคราะห์ดวงนี้ ชื่อ เจ 1407 บี (J1407b)  ดาวเคราะห์ดวงนี้มีขนาดใหญ่กว่าดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์มาก และวงแหวนของมันก็ใหญ่กว่าวงแหวนของดาวเสาร์ถึง 200 เท่า หากดาวเสาร์มีวงแหวนใหญ่เท่า เจ 1407 บีแล้ว ผู้คนบนโลกจะมองเห็นวงแหวนดาวเสาร์มีขนาดใหญ่กว่าดวงจันทร์เต็มดวงหลายเท่า
นักดาราศาสตร์ค้นหาดาวเคราะห์ด้วยการสังเกตการผ่านหน้าดาวฤกษ์ เมื่อดาวเคราะห์ในระบบสุริยะอื่นดวงหนึ่งโคจรผ่านหน้าดาวฤกษ์แม่ ความสว่างของดาวที่วัดได้จากกล้องบนโลกจะลดลงไปเป็นเวลาสั้น ๆ ซึ่งเกิดจากดาวเคราะห์บดบังผิวหน้าบางส่วนของดาวฤกษ์ 
เอริก มามาเจ็ก จากมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ในนิวยอร์กและคณะตรวจพบวงแหวนนี้ครั้งแรกในปี 2555 ในช่วงแรกเขาวิเคราะห์ว่ามีวงแหวนขนาดใหญ่สี่วง แต่การวิเคราะห์เพิ่มเติมร่วมกับ แมททิว เคนเวิร์ทที จากหอดูดาวเลเดนในเนเทอร์แลนด์ พบว่าวงแหวนนี้ใหญ่โตกว่าที่เคยคิดไว้มาก และมีวงแหวนซ้อนกันถึง 37 วง
โดยปกติ เมื่อดาวเคราะห์ต่างระบบผ่านหน้าดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์จะรบกวนแสงจากดาวฤกษ์ให้เห็นผลเพียงเล็กน้อย เช่นดาวเคราะห์แบบดาวพฤหัสบดีอาจทำให้แสงดาวลดลงไปเพียง เปอร์เซ็นต์ เทียบได้กับแสงจากปากกระบอกไฟฉายที่ห่างออกไปเป็นพันกิโลเมตรแล้วมียุงบินผ่านหน้า แต่ในกรณีของดาว เจ 1407 บีนี้ แสงจากดาวฤกษ์ถูกวงแหวนบดบังไปมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์
นอกจากขนาดของแหวนที่ใหญ่โตมโหฬารแล้ว ยังพบว่าวงแหวนมีช่องว่างกว้างอยู่ห่างจากดาวเคราะห์พิสดารดวงนี้ 0.4 หน่วยดาราศาสตร์ ช่องแบ่งนี้เป็นหลักฐานว่าเกิดจากดวงจันทร์บริวารดวงหนึ่งโคจรอยู่ในช่องว่างนั้น แรงโน้มถ่วงของบริวารที่อยู่ในวงโคจรได้เก็บกวาดวัตถุในวงแหวนจนเป็นช่องว่างขนาดใหญ่ คาดว่าบริวารดวงนี้มีมวลระหว่างดาวอังคารถึงโลก นับเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์พบระบบวงแหวนที่มีช่องว่างแบบนี้ในระบบสุริยะอื่น
ดวงจันทร์ดาวเคราะห์ที่มีขนาดระดับโลกเป็นสถานที่อีกประเภทหนึ่งที่ศักยภาพพอจะให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตได้ แม้นักดาราศาสตร์ได้เริ่มต้นค้นหาหลักฐานของดวงจันทร์ต่างระบบจากข้อมูลที่ได้จากเคปเลอร์มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังไม่พบหลักฐานที่ยืนยันได้ แต่ในกรณีของ เจ 1407 บี อาจเป็นหลักฐานชิ้นแรกของดวงจันทร์ต่างระบบ
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างวงแหวนกับดวงจันทร์ก็ยังเป็นเรื่องลึกลับ แม้ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเราที่มีถึงครึ่งหนึ่งที่มีวงแหวน เมื่อปีที่แล้วยังมีการค้นพบวงแหวนรอบดาวเคราะห์น้อยเป็นครั้งแรก แต่นักดาราศาสตร์ก็ยังไม่เข้าใจการกำเนิดและการคงอยู่วงแหวนได้อย่างถ่องแท้นัก 
วงแหวนรอบดาวเคราะห์อาจเป็นของดึกดำบรรพ์ เกิดขึ้นมาพร้อมกับดาวเคราะห์ หรืออาจเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อมีวัตถุพุ่งเข้าชนดาวเคราะห์แล้วสาดเศษวัตถุออกไปเป็นวงแหวน หรืออาจเกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว แล้วต่อมาก็เกาะรวมกันกลายเป็นดวงจันทร์
นักดาราศาสตร์คณะนี้เชื่อว่าแนวทางที่สามน่าเป็นไปได้มากที่สุด เคนเวิร์ททีและมามาเจ็กคาดว่า ในอีกไม่กี่ล้านปีข้างหน้า วงแหวนนี้จะเบาบางลงเรื่อยๆ จนกระทั่งเกาะรวมกันกลายเป็นดวงจันทร์บริวาร คาดว่า ดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ก็อาจมีต้นกำเนิดในลักษณะนี้
นักดาราศาสตร์คาดว่าดาว เจ 1407 บี มีคาบการโคจรประมาณ 10 ปี มีมวลประมาณ 10-40 เท่าของดาวพฤหัสบดี